ไอติม เปรียบแก้รัฐธรรมนูญ “เหมือนฉีดวัคซีน 2 เข็ม” ให้สังคมเป็นประชาธิปไตย

ไอติม เปรียบแก้รัฐธรรมนูญ “เหมือนฉีดวัคซีน 2 เข็ม” ให้สังคมเป็นประชาธิปไตย

แม้ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะถูกตีตกไปถึง 2 ฉบับ แต่ในวันนี้ ไอติม หรือ พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรีโซลูชั่น ยังมองว่าการแก้รัฐธรรมนูญยังพอมีความหวังในอนาคตอันใกล้

หลังจากการประชุมร่วมรัฐสภา วาระลงมติว่าจะรับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรีโซลูชั่น กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน กว่าแสนรายชื่อ หรือเรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ที่ใช้เวลาประชุมประมาณ 1 ช.ม. ครึ่ง จบลงที่การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญโดยที่การประชุมยังไม่ได้จบลงแต่พบว่าการลงมติ ของ ส.ว. ที่อยู่ในลำดับที่ 489 พบว่าได้ออกเสียง ว่าไม่รับหลักการ เป็นจำนวน 166 เสียง ทำให้เสียงรับหลักการที่ต้องใช้ 1 ใน 3 หรือ 83 เสียงจากส.ว.ที่มีอยู่ 248 คน ไม่ครบตามจำนวนดังกล่าวถือว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ไม่ถูกรับหลักการ มาจนถึงวันนี้แม้ว่าร่างจะถูกคว่ำไปแล้วแต่นายพริษฐ์ยังมีความหวังว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีความเป็นไปได้ในอนาคต

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2564 นายพริษฐ์ ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า วิวัฒนาการของการขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วง 2 – 3 ปี ที่ผ่านมาต้องแยกเป็น 2 สมรภูมิ คือ สมรภูมิทางกฎหมาย ที่ผ่านมามี 21 ร่างที่ถูกเสนอไปในสภา 19 ร่าง จากพรรคการเมือง 2 ร่าง จากภาคประชาชน ผ่านไปแค่ร่างเดียวคือเรื่องของบัตรเลือกตั้ง ถ้าประเมิณในมุมของสมรภูมิทางกฎหมายอาจจะไม่ค่อยเห็นความคืบหน้ามากนัก แต่หากมาดูสมรภูมิทางความคิดในช่วง 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา ประชาชนมีความตื่นตัวมากขึ้นในเรื่องของรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งเรื่องของที่มา กระบวนการ และความไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทำให้ประชาชนมีความพร้อมความตื่นตัวเพิ่มมากขึ้น และทุกครั้งที่ร่างถูกปัดตกแม้จะไม่สามารถสร้างความคืบหน้าเชิงกฎหมายได้แต่เชื่อว่าสามารถขับเคลื่อนความคิดของคนในสังคมได้

"ในปีหน้าเราจะแปรความตื่นตัวเชิงความคิดมาเป็นเชิงกฎหมายได้อย่างไรยังยืนยันคำเดิมว่ามองให้เหมือนวัคซีนเป็น 2 เข็ม เพื่อให้ภูมิคุ้มกันขึ้นเต็มที่ในเข็มที่ 2 คือการนำไปสู่ร่างฉบับใหม่ที่มี ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นตัวแทนของประชาชนมาร่วมกันร่างกติกาสูงสุดของประเทศใหม่โดยที่สามารถรวบรวมความฝันและความเห็นที่แตกต่างกันของทุกคนเข้าไปได้และทำออกมาให้เป็นที่ยอมรับของสังคม" นายพริษฐ์กล่าว

 

แต่กว่าจะมาถึงเข็มที่ 2 ได้เราต้องใช้เวลา เพราะประชาชนจะต้องเข้าคูหาเลือก ส.ส.ร. 2 รอบ และไปเลือกที่จะรับร่างของ ส.ส.ร. อีกรอบ ดังนั้นเราจึงรออย่างเดียวไม่ได้จึงจำเป็นจะต้องฉีดเข็มที่ 1 ก่อน แม้อาจจะแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งแต่อย่างน้อยแก้ได้เร่งด่วนที่สุดคือแก้รายมาตรา ต้องมาดูว่ามาตราไหนมีปัญหาก็แก้ตรงนั้นก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสืบทอดอำนาจ ที่มาของวุฒิสภา กระบวนการแต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงกลไกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ปัจจุบันมองว่าทั้ง 2 เข็ม ยังไม่ถูกฉีด เพราะฉะนั้นโจทย์ของปีหน้าคือทำอย่างไรให้ทั้ง 2 เข็ม นั้นถูกฉีด

ดูจากห้วงเวลาแล้วมองว่าปีหน้ามีโอกาสสูงที่อาจจะมีการเลือกตั้งระดับประเทศ เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะอยู่เต็มวาระแต่ก็ต้องมีการเลือกตั้งในต้นปี 2566 แต่หากปีการยุบสภาก็อาจจะเห็นการเลือกตั้งในปีหน้าหรืออย่างน้อยก็อาจจะได้เห็นการเตรียมการเลือกตั้ง ดังชั้นเชื่อว่าควรใช้เวทีเลือกตั้งครั้งนี้ในการเปิดรับการทำฉันทามตินี้ โดยเข็มที่ 1 เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองให้เสนอมาว่ารายมาตราจะแก้อะไรก็ไปทำเป็นนโยบายมา เหมือนกับใครประชาชนเลือกว่าจะฉีดวัคซีนยี่ห้ออะไร ส่วนเข็มที่ 2 ก็คือร่างฉบับใหม่โดยการใช้ พ.ร.บ. ประชามติ รวบรวม 50,000 รายชื่อ แล้วส่งตรงไปที่ ครม. เพื่อเป็นกลไกว่า ครม. จะมีอำนาจตัดสินให้มีการจัดประชามติหรือไม่

 

นอกจากเรื่องรัฐธรรมนูญแล้วก่อนหน้านี้ที่มีกระแสข่าวออกมาว่ามีหลายพรรคทาบทามให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกนั้น นายพริษฐ์ยืนยันว่า ในตอนนี้ยังไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด เนื่องจากตอนนี้ตนกำลังทำธุรกิจที่เกี่ยวกับด้านการพัฒนาการศึกษาอยู่จึงยังอยู่ระหว่างพักเรื่องของการเมืองแต่ถ้าหากฝ่ายใดต้องการความช่วยเหลือก็ยินดีพูดคุย ส่วนเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกพรรคใดนั้นยังเป็นเรื่องของอนาคต