เปิดกรอบรัฐบาลก่อหนี้ตามกฎหมายวินัยการเงิน​การคลัง

เปิดกรอบรัฐบาลก่อหนี้ตามกฎหมายวินัยการเงิน​การคลัง

เปิดกรอบการก่อหนี้้ของรัฐบาล​ตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังภาครัฐ สบน.ระบุ ทุกข้อยังอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่กำหนด ยกเว้นการกู้เงินจากแบงก์รัฐเพื่อใช้ตามนโยบายรัฐที่ขยายจาก 30% เป็นไม่เกิน 35%ของงบประมาณรายจ่าย

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เปิดเผยว่า แม้รัฐบาลจะดำเนินการกู้เงิน เพื่อนำมาใช้ในการดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยขยายกรอบเพดานการก่อหนี้สาธารณะออกไปเป็นไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี แต่รัฐบาลยังสามารถรักษาระดับการใช้จ่ายเงินให้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ

ทั้งนี้ ภายใต้พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ในมาตรา 50 กำหนดกรอบการกู้เงินไว้ใน 4 ข้อหลัก ประกอบด้วย

 

1.ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีต้องไม่เกิน 70%(ขยายจากระดับไม่เกิน 60%) ซึ่ง ณ สิ้นเดือนก.ย.อยู่ที่ 58.15% (

2.ภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ไม่เกิน 35% ปัจจุบันอยู่ที่ 32.27%

3.หนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ต่อ หนี้สาธารณะทั้งหมดไม่เกิน10% ปัจจุบันอยู่ที่ 1.8%

4.ภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการไม่เกิน 5% ปัจจุบันอยู่ที่ 0.05%

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะต้องรายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้างและสัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริงต่อคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐและคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนมี.ค.และก.ย.ของทุกปี และทบทวนสัดส่วนอย่างน้อยทุก 3 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา มีมติตามข้อเสนอคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังของรัฐในการขยายกรอบการกู้เงินแบงก์รัฐเพื่อใช้ตามนโยบายรัฐจากไม่เกิน 30% เป็นไม่เกิน 35% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย เพื่อนำไปใช้ในการประกันรายได้พืชผลการเกษตร แต่กำหนดให้ขยายกรอบการกู้เงินดังกล่าวในระยะเวลาปีงบประมาณนี้