"โควิดสายพันธุ์ใหม่" โอไมครอน กับความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อ

"โควิดสายพันธุ์ใหม่" โอไมครอน กับความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) โพสต์เฟซบุ๊ก อัพเดท "โควิดสายพันธุ์ใหม่" โอไมครอน (Omicron) ซึ่งทาง WHO ได้ออกมาเตือนว่าเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล รวมถึงความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อ

(27 พ.ย.2564) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก อัพเดท "โควิดสายพันธุ์ใหม่" โอไมครอน (Omicron) ซึ่งทาง WHO ได้ออกมาเตือนว่าเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

WHO ตั้งชื่อโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน"

- บ.ผลิตวัคซีนรายใหญ่โลกเร่งปรับวัคซีนสู้โควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน

 

โดย หมอธีระ ได้ระบุถึง "โควิดสายพันธุ์ใหม่" โอไมครอน (Omicron) เป็นข้อๆ ดังนี้ 

 

1.องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศจัดให้ B.1.1.529 เป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern: VOC) เป็นตัวที่ 5 ในขณะนี้ต่อจากอัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา

 

2.ตั้งชื่อว่า "Omicron"

 

3.โดยปกติแล้ว WHO จะจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล VOC ก็ต่อเมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งคือ มีความสามารถในการแพร่เชื้อได้มากขึ้นกว่าเดิมหรือมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่ามีความสามารถที่จะแพร่ระบาดอย่างมากได้ (detrimental change in COVID-19 epidemiology) , ติดเชื้อแล้วรุนแรงมากขึ้นหรือเปลี่ยนลักษณะอาการทางคลินิกไปจากเดิม , หรือเป็นเชื้อที่มีหลักฐานยืนยันว่าทำให้ลดทอนประสิทธิภาพมาตรการด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นด้านการตรวจวินิจฉัย การป้องกันด้วยวัคซีน หรือการรักษาก็ตาม B.1.1.529 หรือ Omicron นี้ถูกจัดเป็น VOC เพราะข้อมูลที่มีตอนนี้นั้นชัดเจนเรื่องทำให้เกิดการแพร่ระบาดมากได้

 

4. Omicron นี้ได้รับการรายงานครั้งแรกในประเทศบอทสวานา เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 และพบในประเทศแอฟริกาใต้ในอีกไม่กี่วันถัดมา ต่อมาพบที่ประเทศฮ่องกง และเมื่อวันก่อนก็มีการรายงานว่าพบในอิสราเอลและเบลเยี่ยมด้วย

 

การระบาดในแอฟริกาใต้นั้นมีการกระจายไปทั่วทุกจังหวัด และมีอัตราการตรวจพบที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าวิตก และคาดว่าว่าอาจมีการกระจายไปประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาและทวีปอื่นๆ ทางองค์การอนามัยโลกจึงเตือนให้ประเทศต่างๆ เฝ้าระวัง และส่งรายงานการตรวจพบตามกลไกที่กำหนดไว้

 

 

5. การตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้ตรวจโควิด-19 นั้นยังสามารถตรวจได้ โดยจะมีลักษณะของการหายไปของ S-gene ที่เรียกว่า S-gene target failure หรือ S-gene drop out

 

ดังนั้น ศักยภาพของระบบการตรวจ RT-PCR ของแต่ละประเทศที่จะรองรับปริมาณการตรวจยามมีระบาดรุนแรงขึ้นจึงสำคัญมาก ไม่ใช่หันไปกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วหันไปใช้ ATK โดยไม่ได้เพิ่มศักยภาพระบบ RT-PCR

 

6. ข้อมูลจาก Jeffrey Barrett ชี้ให้เห็นว่า Omicron นี้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะหนามตรงเปลือกนอกของไวรัสมากถึง 32 ตำแหน่ง โดยหลายตำแหน่งมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดปัญหา เช่น สีแดง มีอยู่ถึง 9 แห่งที่มีลักษณะเหมือนกับไวรัสกลายพันธุ์ VOC เดิมที่เราเคยเจอ ไม่ว่าจะเป็นอัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา ตำแหน่งต่างๆ ดังกล่าวมีผลต่อการลดประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันจากวัคซีน การเพิ่มศักยภาพในการแพร่เชื้อและติดเชื้อ ฯลฯ ในขณะที่สีอื่นๆนั้น จำเป็นต้องมีการวิจัยเพื่อดูผลของการเปลี่ยนแปลงต่อไป

 

7. คาดว่าในอีกไม่กี่สัปดาห์ จะมีผลการศึกษาเชิงลึกว่า Omicron จะส่งผลอย่างไรบ้างกับเรื่องประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกัน รวมถึงความสามารถในการแพร่เชื้อติดเชื้อ โอกาสการติดเชื้อซ้ำ และอื่นๆ

 

ทั้งนี้ ล่าสุดทางบริษัทวัคซีน เช่น โมเดอร์นา ก็ได้ออกมาประกาศว่ากำลังเร่งพัฒนาวัคซีนที่จำเพาะกับสายพันธุ์ Omicron นี้ด้วย

 

ย้ำเตือนกันทุกวันว่า ไทยเราตอนนี้การระบาดยังสูงมาก และกระจายไปทั่ว ดังที่เห็นในอันดับโลกทุกวัน ฉีดวัคซีนจะช่วยลดโอกาสป่วยรุนแรง ลดโอกาสเสียชีวิตได้ แต่ไม่ว่าจะฉีดแล้วหรือยังไม่ครบหรือยังไม่ฉีด ขอให้ตระหนักว่าจะมีโอกาสติดเชื้อได้หากไม่ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด และป่วยได้ตายได้ แพร่ให้คนใกล้ชิดในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือคนอื่นในสังคมได้