"โควิดสายพันธุ์ใหม่" ความท้าทายปี 2565 พบคุณสมบัติหลายอย่างน่ากังวล

"โควิดสายพันธุ์ใหม่" ความท้าทายปี 2565 พบคุณสมบัติหลายอย่างน่ากังวล

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "โควิดสายพันธุ์ใหม่" โอไมครอน (Omicron) ชี้เป็นความท้าทายในปี 2565 ซึ่งเชื้อตัวนี้มีคุณสมบัติหลายประการที่น่ากังวล

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "โควิดสายพันธุ์ใหม่" โอไมครอน (Omicron) ชี้เป็นความท้าทายในปี 2565 ซึ่งเชื้อตัวนี้มีคุณสมบัติหลายประการที่น่ากังวลเลยทีเดียว 

อ่านข่าว :  WHO ตั้งชื่อโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน"

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- จับตาเชื้อ "โควิดสายพันธุ์ใหม่" โอไมครอน ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง 40%

- "หมอยง"หวั่นโควิดสายพันธุ์ใหม่ดื้อต่อวัคซีน ย้ำใครควรฉีดวัคซีนเข็ม3

- ด่วน ยอด โควิด-19 วันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 6,073 ราย ตาย 32 ราย ATK อีก 4,260 ราย

 

โดยทาง ดร.อนันต์ พูดถึง "โควิดสายพันธุ์ใหม่" โอไมครอน (Omicron) ระบุว่า "ในมุมมองของนักไวรัสวิทยา ไวรัสสายพันธุ์ B.1.1.529 ที่กำลังระบาดในประเทศแอฟริกาใต้ตอนนี้มีคุณสมบัติหลายประการที่น่ากังวลครับ ถึงแม้ข้อมูลการระบาดของไวรัสสายพันธุ์นี้ยังมีไม่มาก แต่การเตรียมการป้องกันไว้ล่วงหน้าคงจะดีกว่าการแก้ไขปัญหาหลังจากที่ไวรัสระบาดไปในวงกว้างแล้ว

 

ไวรัสสายพันธุ์นี้เชื่อว่าเกิดจากการบ่มเพาะตัวเองในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดี ไวรัสมีโอกาสปรับตัวเองหนีภูมิคุ้มกันได้ง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับสายพันธุ์น่ากังวลอื่นๆที่ผ่านมา แต่ความน่ากังวลอยู่ที่ไวรัสชนิดนี้มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นหลายตำแหน่งมาก จนทำให้องค์ความรู้ต่างๆที่เคยมีมาก่อนกับไวรัสสายพันธุ์อื่นๆที่ใกล้เคียงกันอาจจะใช้อธิบายพฤติกรรมของไวรัสสายพันธุ์นี้ได้ไม่แม่นยำนัก

ในบรรดาตำแหน่งที่พบการกลายพันธุ์ สรุปประเด็นหลักๆ ได้ดังนี้

 

1. ตำแหน่งที่โปรตีนหนามสไปค์จับกับโปรตีนตัวรับ (RBD) มีการเปลี่ยนแปลงหลายตำแหน่งมากแบบที่ไม่เคยพบในสายพันธุ์อื่นๆมาก่อน ซึ่งทำให้แอนติบอดีที่สร้างขึ้นจากวัคซีนจะจับกับโปรตีนตำแหน่งนี้ไม่ได้ดี รวมถึงยาที่ออกแบบมาจากแอนติบอดีรักษาด้วย

 

 

2. ตำแหน่ง 3 ตำแหน่งที่ใกล้จุดตัดตัวเองของโปรตีนหนาม คือ H655Y, N679K และ P681H เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่อาจทำให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายและแพร่กระจายตัวเองได้ไวขึ้น

 

3. การเกิดขาดหายไปของกรดอะมิโนที่โปรตีนชื่อว่า Nsp6 (Delta 105-107) ซึ่งพบว่าไปตรงกับสายพันธุ์แอลฟ่า เบต้า แกมม่า และ แลมป์ดา ซึ่งเชื่อว่าช่วยให้ไวรัสหนีภูมิคุ้มกันชนิด innate immunity ที่ร่างกายจะตอบสนองต่อการติดเชื้อแบบฉับพลันหลังติดเชื้อได้

 

4. การเปลี่ยนแปลงของโปรตีน Nucleocapsid 2 ตำแหน่งสำคัญคือ R203K และ G204R ซึ่งพบได้ในสายพันธุ์แอลฟ่า แกมม่า และ แลมป์ดา ซึ่งมีรายงานว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยให้ไวรัสติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ได้ดีขึ้น

 

ดูเหมือนว่าการกลายพันธุ์ที่พบได้ในไวรัส B.1.1.529 มีส่วนช่วยหนุนให้ไวรัสตัวนี้เป็นไวรัสที่อาจจะเป็นสายพันธุ์น่ากังวลตัวใหม่ได้ ข้อมูลจากแอฟริกาใต้ดูเหมือนจะพบไวรัสสายพันธุ์นี้มากขึ้นเรื่อยๆ และ กราฟที่ขึ้นสูงนี้อาจจะมาจากความสามารถของไวรัสที่หนีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ และ มีคุณสมบัติการแพร่กระจายที่ดี...เราคงต้องเตรียมตัวรับมือกับไวรัสตัวนี้แบบจริงจังแล้วครับ...ตัวนี้อาจจะเป็นความท้าทายของปี 2022 ที่ต้องเหนื่อยกันต่อไป