พลิกบทบาท “หัวลำโพง” ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา

พลิกบทบาท “หัวลำโพง” ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา

คมนาคมหนุน SRTA พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์การรถไฟฯ ดันรายได้ 30 ปี 8 แสนล้านบาท กลบหนี้สินสะสม 6 แสนล้านบาท ลั่นถึงเวลาสถานีหัวลำโพงต้องปรับเปลี่ยน ประวัติศาสตร์อยู่คู่กับการพัฒนาประเทศ

23 ธ.ค.2564 กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทยอยหยุดเดินรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เพื่อเพิ่มศักยภาพใช้งานสถานีกลางบางซื่อ หลังลงทุนไปกว่า 3 หมื่นล้านบาท ปั้นให้เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การคมนาคมของประเทศไทย ทำให้บทบาทของสถานีกรุงเทพ หรือ “หัวลำโพง” อาคารลักษณะโดมสไตล์อิตาเลียนผสมกับศิลปะแบบเรอเนสซองซ์ที่มีอายุมากกว่า100 ปีกำลังจะยุติบทบาทเดิมเพื่อก้าวสู่บทบาทใหม่ที่ประวัติศาสตร์กับการพัฒนาประเทศต้องอยู่ร่วมกัน

ขณะเดียวกัน “หัวลำโพง” ก็ต้องรับบทสู่เป้าหมายการสร้างรายได้ให้ ร.ฟ.ท.ปีแรก5 พันล้านบาท ภายใน 5 ปี รายได้ 1 หมื่นล้านบาท และภายใน 30 ปี จะสร้างรายได้ 8 แสนล้านบาท กลบหนี้สินผูกพันที่ ร.ฟ.ท.มีอยู่กว่า 6 แสนล้านบาท

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นโยบายหยุดการเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพง เพื่อมาใช้สถานีกลางบางซื่อ และนำพื้นที่สถานีหัวลำโพงไปพัฒนาเป็นโครงการอื่น ถือเป็นนโยบายที่มีมานานแล้ว โดยปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีบริษัทลูกที่ชื่อ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด หรือ บริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เข้ามาวางแผนพัฒนาที่ดินทุกแปลง โดยเฉพาะแปลงใหญ่ เพื่อสร้างรายได้ให้กับ ร.ฟ.ท. อาทิ สถานีกรุงธนบุรี สถานีกลางบางซื่อ สถานี RCA สถานีแม่น้ำ และสถานีหัวลำโพง

“เอสอาร์ทีมีแผนจะพัฒนาทุกแปลงที่มีศักยภาพอยู่แล้ว โดยจะพัฒนาอย่างมืออาชีพ เพราะการรถไฟฯ มีภาระบริหารขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง ขาดทุนทางบัญชีอยู่ที่ 1.6 แสนล้านบาท แต่หากดูตัวเลขขาดทุนที่เกิดขึ้นจริงพบว่ามีสูงถึง 6 แสนล้านบาท เรื่องนี้จึงเป็นโจทย์ที่ต้องแก้ไข”

พลิกบทบาท “หัวลำโพง” ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา

นอกจากนี้  รัฐบาลเล็งเห็นถึงปัญหาการจราจรติดขัดในเมือง จึงพัฒนาสถานีกลางบางซื่อมา และสามารถรองรับระบบขนส่งทางรางถึง 4 ระบบ ทั้งรถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูง

อีกทั้งเมื่อการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อแล้วเสร็จ ก็มีความจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป้าหมายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมในการลดปัญหาการจราจรติดขัดในเมือง อีกทั้งสถานีกลางบางซื่อ รัฐบาลใช้งบพัฒนาไปกว่า 3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นเมื่อสร้างขึ้นมาแล้ว ก็ต้องผลักดันให้เกิดการใช้งานอย่างคุ้มค่า เป็นฮับของการเดินทางอย่างที่วางเป้าหมายไว้

“กระทรวงฯ ได้รับฟังทุกปัญหา และมองว่าสิ่งเหล่านี้ต้องมีการแก้ไข เรื่องเหล่านี้ต้องนำมาเปรียบเทียบดูถึงผลดีและผลเสีย เพราะทั้งหมดถือเป็นการพัฒนาประเทศ เราต้องหาที่อยู่ร่วมกันระหว่างประวัติศาสตร์กับการพัฒนาประเทศ”

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีแนวทางแก้ไขปัญหาการหยุดเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง ด้วยบริการระบบขนส่งรอง (ฟีดเดอร์) ซึ่งจะต้องประสานงานร่วมกับทุกหน่วยงานระบบขนส่งที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดบริการรถโดยสารประชาชนฟรีในเส้นทาง สถานีกลางบางซื่อ – หัวลำโพง และหัวลำโพง – สถานีกลางบางซื่อ รวมทั้งจะหารือร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เพื่อหาทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชน

สำหรับแผนหยุดเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพง ร.ฟ.ท.มีกำหนดวันที่ 23 ธ.ค.2564 จะลดความถี่ให้บริการเข้าสถานีหัวลำโพง จาก 118 ขบวนต่อวัน เหลือ 22 ขบวนต่อวัน โดยกระทรวงคมนาคมมีนโยบาบให้เปรียบเทียบผลกระทบการจราจร การปรับเที่ยววิ่งในเวลาที่เหมาะสม และการบริหาราสถานีหัวลำโพงต่อจำนวน 22 ขบวนรถ จะมีภาระต้นทุนที่คุ้มค่าหรือไม่ หากจะยังเปิดให้บริการ

“ผมกล้าตัดสินใจอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีเสียงวิพากย์วิจารณ์อย่างไร เพราะต้องการให้การรถไฟฯ ดำเนินการต่อไปได้ เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกำไร สามารถดูแลพี่น้องประชาชน อย่าเพิ่งไปดราม่ากัน”

ท้ายที่สุดการตัดสินใจหยุดเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง และนำพื้นที่ 120 ไร่ไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ ตามแผนที่เอสอาร์ทีกำลังศึกษาอยู่นั้น ก่อสร้างเป็นโครงการแบบผสมผสาน ยังคงความเป็นอัตลักษณ์เดิมให้สอดคล้องกับความสมัยใหม่ อนุรักษ์อาคารหัวลำโพงและจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ ผสมผสานกับร้านค้าสินค้า และแบรนด์เนมระดับโลก เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่เชิงวัฒนธรรมร่วมสมัย