โบรกอัพราคาเป้าหมาย TRUE-DTAC ควบรวมหนุนต้นทุนวูบหมื่นล้าน

โบรกอัพราคาเป้าหมาย TRUE-DTAC ควบรวมหนุนต้นทุนวูบหมื่นล้าน

"บล.ยูโอบีฯ" คาด TRUE-DTAC รวมกิจการ หนุน ฐานลูกค้า-รายได้โต-ต้นทุนลด "บล.เอเซีย พลัส” คาดต้นทุนวูบหมื่นล้าน "บล.กสิกรไทย" อัพเป้าราคาเป้าหมายเพิ่มกว่า 20% เชื่อ กสทช.ไฟเขียวควบรวมแบบมีเงื่อนไข ด้านราคาหุ้นวานนี้พุ่งรับข่าว

ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) วานนี้ (22 พ.ย.) ปรับขึ้นร้อนแรง โดย TRUE เปิดตลาดพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดที่ 4.92 บาทต่อหุ้น ก่อนลดช่วงบวกมาปิดที่ 4.76 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 0.44 บาท หรือ 10.19% ขณะที่ DTAC เปิดตลาดพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดที่ 46 บาทต่อหุ้น ก่อนลดช่วงบวกมาปิดที่ 45 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 3.75 บาท หรือ 9.09%

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ราคาหุ้น TRUE และ DTAC วานนี้ ปรับขึ้นจากปัจจัยบวกการควบรวมกิจการระหว่างทั้ง 2 บริษัท ผ่านการจัดตั้งบริษัทใหม่ เผื่อดำเนินธุรกิจผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ แม้บริษัทใหม่ที่เตรียมจัดตั้งยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียด

รวมถึงมูลค่า ณ ราคาตลาด (Market Cap.) ของทั้ง 2 บริษัท เมื่อรวมกันจะอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาทเท่านั้น ต่ำกว่า บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เบอร์ 1 ของอุตสาหกรรมที่มี Market Cap. 5.8 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี นักลงทุนมองว่ามูลค่า (Valuation) ของ TRUE และ DTAC ยังอยู่ในระดับต่ำ จึงเกิดแรงซื้อเก็งกำไรตามกระแสข่าวเชิงบวก

ปัจจัยหนุนฐานลูกค้าเพิ่ม-ต้นทุนลดลง

สำหรับมุมมองการควบรวมกิจการ ฝ่ายวิจัยประเมินว่า TRUE จะได้ประโยชน์จากทุน 1. ฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) 2. ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่คาดว่าจะลดลง 3-4 พันล้านบาท จากระดับ 1.8 พันล้านบาท เหลือ 1.4-1.5 พันล้านบาท รวมถึงต้นทุนดอกเบี้ยที่คาดว่าจะลดลง จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 5% และ 3. ต้นทุนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่คาดว่าจะลดลง

เช่นเดียวกับ DTAC ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จาก 1. ฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิด Economies of Scale 2. การพัฒนาบริการเครือข่ายให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้น จากเดิม DTAC ประสบปัญหาลงทุนต่ำกว่าอุตสาหกรรม(Underinvestment) และ 3. ต้นทุนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่คาดว่าจะลดลง

หวั่น‘ดีแทค’รับภาระหนี้-คดีความเพิ่ม

ส่วนข้อเสียจากดีลการควบรวมกิจการ สำหรับ TRUE มองว่าจะถูกทบทวนการสนับสนุนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (กลุ่มซีพี) ลดลง ภายหลังมีกลุ่มทุนอื่นเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจโทรคมนาคมของกลุ่มบริษัท ขณะที่ DTAC คาดว่าจะเสียประโยชน์จากภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงคดีความประกอบงบการเงินที่จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนคดีความประกอบงบการเงินของ TRUE

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสียที่ทั้ง 2 บริษัทต้องเผชิญ คือ อำนาจเด็ดขาดในเชิงกลยุทธ์ที่จะลดลง ภายหลัง TRUE และ DTAC ประกาศตั้ง บริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ทั้ง 2 บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนเท่ากัน 50 : 50 ซึ่งอาจส่งผลให้การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์หลังจากนี้จะต้องเป็นความเห็นที่ทั้ง 2 บริษัทเห็นพ้องกัน เบื้องต้นคาดว่า บริษัท ซิทรินฯ จะเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทใหม่ที่อยู่ระหว่างจัดตั้ง ก่อนจะทำการเพิกถอนหุ้น TRUE และ DTAC ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

มั่นใจราคาหุ้นไปต่อขั้นต่ำ 30%

สำหรับมุมมองการลงทุน ระยะสั้นมองว่าราคาหุ้นปรับขึ้นมาอยู่ในระดับที่เหมาะต่อการซื้อขายทำกำไร (เทรดดิ้ง) เท่านั้น แต่ระยะยาวมองว่าระดับราคาของ TRUE และ DTAC ที่บริษัท ซิทรินฯ จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (เทนเดอร์) ที่ 5.09 บาทต่อหุ้น และ 47.76 บาทต่อหุ้น จะกลายเป็นฐานราคา (ราคาฟลอร์) ในอนาคต โดยมีโอกาสที่ราคาหุ้นทั้ง 2 บริษัทจะปรับขึ้นจากระดับปัจจุบันอีกอย่างน้อย 30%

“เรามองราคาหุ้นของ TRUE และ DTAC ไปต่อในระยะยาว โดยเชื่อว่าจะเกิดการขยับปรับฐานของราคาหุ้นสื่อสารยกแผง เพราะนักลงทุนในตลาดจะให้พรีเมี่ยมจากโครงสร้างผู้เล่นในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงปัจจัยหนุนจากความพร้อมลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ในอนาคต”

‘เอเซีย พลัส’คาดยุบเสา-ควบรวมสาขา

นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนายการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยคาดว่าการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC จะส่งผลบวกต่อรายได้และต้นทุนของทั้ง 2 บริษัท โดยในส่วนของรายได้จะได้ปัจจัยหนุนจากการขยายธุรกิจไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการแข่งขันด้านราคาในอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะลดลงในกรณีเหลือผู้เล่นเพียง 2 ราย คือ กิจการใหม่ระหว่าง 2 บริษัท และ ADVANC

ในส่วนของต้นทุนคาดว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) อาทิ ต้นทุนเสาโทรคมนาคมซึ่งสามารถยุบรวม หรือนำไปใช้ใหม่ให้มีประสิทธิภาพในพื้นที่ใหม่ๆ ได้ รวมถึงต้นทุนสาขาที่สามารถยุบรวมได้เช่นกัน ส่วนค่าใช้จ่ายด้านทุน (CAPEX) จากเดิม TRUE และ DTAC มีงบลงทุนรวมกันประมาณ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี (เฉพาะธุรกิจโทรคมนาคม) เทียบกับ ADVANC ที่มีงบลงทุนราว 2.5-3 หมื่นล้านบาทต่อปี

ประหยัดต้นทุนปีละหมื่นล้าน

ขณะที่ภายหลังการควบรวมกิจการ จะส่งผลให้ขนาดของกิจการใหม่ใกล้เคียงกับ ADVANC ในกรณีที่ขนาดเท่ากันและใช้งบลงทุนใกล้เคียงกัน คาดว่ากิจการใหม่จะช่วยประหยัดงบลงทุนได้ราว 1 หมื่นล้านบาทต่อปี และคาดหวังรายได้จะเติบโตดีขึ้นจากการผนึกกำลัง จากเดิมมูลค่าการลงทุนสูง แต่รายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 1.9% เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงในแง่กฎเกณฑ์ของผู้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แม้ตามข้อกฎหมายจะระบุให้ TRUE และ DTAC แจ้งเพื่อทราบและเพื่อขออนุญาต แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า กสทช.มีอำนาจยับยั้งหรือไม่ รวมถึงความเสี่ยงภายหลังปิดดีลควบรวมกิจการ กิจการใหม่ที่จัดตั้งขึ้นและ ADVANC จะถือมีอำนาจเหนือตลาด ส่งผลให้ กสทช.สามารถออกเงื่อนไขเพิ่มเติมในการดำเนินธุรกิจ

จับตากสทช.เคาะอำนาจเหนือตลาด

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์บล.กสิกรไทย กล่าวว่า จากดีลการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC คาดว่าจะส่งผลบวกในแง่รายได้รวม กำไรสุทธิ และเงินปันผล ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น สวนทางกับต้นทุนเงินลงทุนและค่าใช้จ่าย ที่คาดว่าจะลดลง ขณะที่ราคาหุ้นคาดว่าจะขยับดีขึ้นตามปัจจัยบวกการควบรวมกิจการ

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากประเด็นอำนาจเหนือตลาด หากพิจารณาจากฐานลูกค้า ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 พบว่า TRUE อยู่ที่ 32 ล้านราย และ DTAC อยู่ที่ 19 ล้านราย ส่งผลให้ทั้ง 2 บริษัทมีฐานลูกค้ารวม 51 ล้านราย ขณะที่ ADVANC มีฐานลูกค้าเพียง 44 ลบ้านรายเท่านั้น

เมื่อพิจารณาในส่วนของรายได้ TRUE อยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท DTAC อยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ทั้ง 1 บริษัทมีฐานรายได้รวม 3.2 หมื่นล้าน มากกว่า ADVANC ที่มีรายได่ 2.9 หมื่นล้าน โดยต้องจับตาการพิจารณาของ กสทช. แต่เบื้องต้นคาดว่าคณะกรรมการจะพิจารณาให้ผ่าน แต่ให้น้ำหนักการผ่านแบบมีเงื่อนไข เช่นเดียวกับกรณีกลุ่มซีพีซื้อหุ้นธุรกิจโลตัส

คาดผู้ถือหุ้นไฟเขียวแลกหุ้น

ในส่วนของผู้ถือหุ้น คาดว่าจะมีมติอนุมัติดีลการควบรวมกิจการเช่นกัน จากปัจจุบันกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของทั้ง 2 บริษัทมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 70% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดอยู่แล้ว ขณะที่มติดังกล่าวต้องการคะแนน 3 ใน 4 เสียง หรือ 75% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าจะผ่านได้ไม่ยาก

ขณะที่การปรับโครงสร้างหลังจากนี้คาดว่าจะทำการแลกหุ้น (Share Swap) ไปยัง TRUE หรือ DTAC ตัวใดตัวหนึ่ง และเพิกถอนหุ้นอีกตัวหนึ่งออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยสัดส่วนการถือหุ้นเบื้องต้นคาดว่ากลุ่มซีพีจะถือหุ้น 29% กลุ่มเทเลนอร์ 27% กลุ่มไชน่า โมบายล์ ประมาณ 10% และผู้ถือหุ้นรายย่อยประมาณ 30%

“การสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) อาจจะไม่ต้องถือหุ้นคนละ 50 : 50 ก็ได้ เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ 2 บริษัทไม่ได้มีเพียงกลุ่มซีพี และกลุ่มเทเลนอร์ อีกทั้งต้องมีกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยด้วย จากความต้องการของทั้ง 2 บริษัทที่จะซื้อขายต่อเนื่องในตลาดหลักทรัพย์ฯ”

อัพราคาเป้าหมาย-คำแนะนำลงทุน

สำหรับการลงทุน ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มราคาเป้าหมายของ TRUE ประมาณ 23%จาก 4.23 บาทต่อหุ้น มาอยู่ที่ 5.20 บาทต่อหุ้น รวมถึงปรับเพิ่มคำแนะนำจาก “ถือ” เป็น “ซื้อ” ส่วน DTAC ประมาณ 21% จาก 36 บาทต่อหุ้น มาอยู่ที่ 44 บาทต่อหุ้น รวมถึงปรับเพิ่มคำแนะนำจาก “ขาย” มาเป็น “ซื้อ” โดยคาดราคาหุ้นในช็อตแรกจะปรับขึ้นใกล้ราคาเทนเดอร์ ขณะที่ช็อตถัดไปมีโอกาสขยับขึ้นต่อเนื่อง หากบริษัทใหม่ประกาศแผนการดำเนินงานที่หนุนการเติบโตออกมาชัดเจน