บีคอน วีซี จับมือ ฟูเชีย วีซี ลงทุนภายใต้ “แพนเทอรา แคปิทัล” เน้นลงทุนบล็อกเชน

บีคอน วีซี จับมือ ฟูเชีย วีซี ลงทุนภายใต้ “แพนเทอรา แคปิทัล” เน้นลงทุนบล็อกเชน

บีคอน วีซี และ ฟูเชีย วีซี ร่วมลงทุนในกองทุนภายใต้ “แพนเทอรา แคปิทัล” เน้นลงทุนในบล็อกเชน เพื่อเข้าถึงตลาดบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างครอบคลุม

นายธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (บีคอน วีซี) เปิดเผยว่า การลงทุนครั้งนี้จะทำให้ธนาคารและธุรกิจในเครือของธนาคารกสิกรไทยสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทผู้คิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ และเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางด้านบล็อกเชนได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่ง Pantera Capital เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ มีชื่อเสียงที่ดี และมีประสบการณ์ในการลงทุนในบริษัทด้านบล็อกเชนมายาวนาน ทีมงานมีความรู้ความสามารถทั้งทางด้านการลงทุน และด้านการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 3 กองทุนที่มีการลงทุนในบริษัทด้านบล็อกเชนมากที่สุดในโลกจาก CB Insights จากจำนวนการลงทุนตั้งแต่ปี 2560 โดยกองทุน Pantera Blockchain Fund มีเป้าหมายในการระดมทุนมูลค่ารวม 600 ล้านเหรียญสหรัฐ 

การลงทุนใน Pantera Blockchain Fund นับเป็นการลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ครั้งที่ 4 ของบีคอน วีซี โดยก่อนหน้านี้ได้ลงทุนในกองทุน 3 แห่ง ได้แก่ 1) Integra Partners กองทุนที่ลงทุนในฟินเทคสตาร์ทอัพของอาเซียน 2) Vertex Ventures กองทุนลงทุนในสตาร์ทอัพที่กำลังขยายตลาดจากสิงคโปร์ และ 3) NYCA กองทุนที่ลงทุนในฟินเทคสตาร์ทอัพทั่วโลกจากสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ บีคอน วีซีได้ลงทุนโดยตรงในสตาร์ทอัพอีกกว่า 14 บริษัท เช่น Aspire Financial Technologies ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการเงินสำหรับเอสเอ็มอี Nium ผู้ให้ให้บริการโอนเงินข้ามประเทศ Grab ผู้ให้บริการเรียกรถและบริการทางการเงินชั้นนำของอาเซียน และ Carro แพลตฟอร์มซื้อขายรถยนต์ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้าน นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เมืองไทยประกันชีวิต และกรรมการ ฟูเชีย เวนเจอร์ แคปิทัล (Fuchsia VC) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบล็อกเชนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อระบบการเงินโลกในหลาย ๆ ด้าน เช่น ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา การชำระเงิน การกู้ยืม และเริ่มเห็นการนำบล็อกเชนมาใช้ในอุตสาหกรรมประกันภัยมากขึ้น ดังนั้นการร่วมลงทุนกับ Pantera Capital จะทำให้ Fuchsia VC สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและโปรโตคอลใหม่ ๆ ของบล็อกเชน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้เราสามารถพัฒนานวัตกรรมในด้านประกันและการดูแลสุขภาพได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้กองทุนยังจะช่วยเพิ่มความรู้และความเข้าใจในสินทรัพย์บล็อคเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลที่หลากหลายและครอบคลุม เพราะกองทุนมีการลงทุนทั้งในรูปแบบตราสารทุน และการลงทุนในรูปแบบโทเค็นโปรโตคอลในระยะเริ่มต้น 

 เกี่ยวกับบีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล (Beacon Venture Capital)

บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จัดตั้งขึ้นในปี 2560 โดยทำหน้าที่เป็นกองทุนร่วมลงทุนของธนาคารกสิกรไทย บีคอนวีซีมีนโนบายในการเข้าลงทุนเชิงกลยุทธ์เพื่อต่อยอดการดำเนินงานเชิงเทคโนโลยีของธนาคาร โดยมุ่งเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่ จนถึงบริษัทที่อยู่ในช่วงขยายธุรกิจ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจที่พัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงินเท่านั้น แต่รวมถึงเทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภค และเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจ  ทั้งนี้ กองทุนบีคอนวีซีได้มีการเพิ่มเงินลงทุนเพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมที่หลากหลายขึ้น โดยมีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 185 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และได้ลงทุนในหลายบริษัททั้งในและต่างประเทศ เช่น FlowAccount, Jitta, Builk, Grab, Nium และ Aspire เป็นต้น 

เกี่ยวกับฟูเชีย เวนเจอร์ แคปิทัล (Fuchsia Venture Capital)

ฟูเชีย เวนเจอร์ แคปิทัล เป็นบริษัทลงทุนภายใต้บริษัท เมืองไทยกรุ๊ปโฮลดิ้ง จำกัด มีนโยบายการลงทุนในด้านอินชัวร์เทค (Insurtech) เฮลท์เทค (Healthtech) ฟู้ดเทค (Foodtech) และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ช่วยยกระดับความมั่งคั่งและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้บริโภค ให้การสนับสนุนบริษัทที่ร่วมลงทุนทั้งในด้านเงินลงทุนและการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับอีโคซิสเต็มของกลุ่มบริษัท โดยมีวิสัยทัศน์ในการลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยให้มนุษย์มีอายุยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 เกี่ยวกับแพนเทอรา แคปิทัล (Pantera Capital)

แพนเทอรา แคปิทัล เป็นผู้จัดการกองทุนทางด้านบล็อกเชนชั้นนำของโลก ที่จัดตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund) และกองทุนเวนเจอร์แคปิตอล (Venture Fund) ด้านบล็อกเชนในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2556 มุ่งเน้นการลงทุนในเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อให้นักลงทุนได้เข้าถึงตลาดบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างทั่วถึง โดยมีการระดมทุนจากนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่มามากกว่า 950 รายทั่วโลก ทำให้ ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทมีสินทรัพย์ภายใต้การดูแลมูลค่ารวม 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ