ไทยยื่นให้สัตยาบัน RCEP แล้ว พาณิชย์มั่นใจไทยได้ประโยชน์เพียบ

ไทยยื่นให้สัตยาบัน RCEP แล้ว พาณิชย์มั่นใจไทยได้ประโยชน์เพียบ

“จุรินทร์”รับทราบผลไทยยื่นให้สัตยาบัน RCEP แล้ว มั่นใจมีผลบังคับใช้ได้ตามเป้า 1 ม.ค.65 หลังสมาชิกอาเซียน และนอกอาเซียนยื่นเกือบครบแล้ว เผยไทยได้ประโยชน์ หลังเกิดตลาดการค้า การลงทุนใหญ่ที่สุดในโลก ชี้มีการลดภาษีรวม 39,366 รายการ ลด 0% ทันที 29,891 รายการ

 รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับทราบผลการยื่นให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ของไทย เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมที่จะยื่นช่วงเดือนพ.ย.2564 ทำให้มั่นใจว่าความตกลงจะมีผลบังคับได้ในวันที่ 1 ม.ค.2565 ตามกำหนดเดิมสมาชิกได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้

ทั้งนี้ การให้สัตยาบัน RCEP เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ กำหนดให้สมาชิกอาเซียน 6 ประเทศจาก 10 ประเทศ ยื่นให้สัตยาบัน ซึ่งปัจจุบันมีอาเซียนยื่นแล้ว คือ สิงคโปร์ บรูไน สปป.ลาว และกัมพูชา โดยมีไทยเป็นประเทศล่าสุด จึงไม่น่ากังวลว่าจะไม่ครบตามเงื่อนไข ส่วนประเทศนอกอาเซียน ญี่ปุ่น จีน ยื่นแล้ว ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ กำลังจะยื่น  

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจาก RCEP เมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้ จะทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะ RCEP เป็นตลาดการค้าการลงทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วย 15 ประเทศ มีประชากรรวมกันเกือบ 2,300 ล้านคน หรือ 30.2% ของประชากรโลก มีจีดีพีรวม 28.5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 33.6% ของจีดีพีโลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 30.3% ของมูลค่าการค้าโลก และเฉพาะไทย มีการค้าและการลงทุนมากกว่า 50% อยู่ในตลาดของสมาชิก RCEP

ไทยยื่นให้สัตยาบัน RCEP แล้ว พาณิชย์มั่นใจไทยได้ประโยชน์เพียบ

โดยในด้านการค้า ประเทศคู่เจรจาจะลดภาษีให้ไทยเป็น 0% รวมทั้งหมด 39,366 รายการ (ออสเตรเลีย 5,689 รายการ จีน 7,491 รายการ ญี่ปุ่น 8,216 รายการ เกาหลีใต้ 11,104 รายการ และนิวซีแลนด์ 6,866 รายการ) โดยจะยกเลิกภาษีเป็น 0% ทันทีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับจำนวน 29,891 รายการ หรือ 75.9% ของรายการสินค้าที่จะยกเลิกภาษีทั้งหมด และสินค้าที่ประเทศคู่เจรจาจะทยอยลดภาษีภายใน 10-20 ปี จำนวน 9,475 รายการ  

สำหรับ สินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดเพิ่มเติม มีทั้งหมด 653 รายการ จากจีน 33 รายการ ญี่ปุ่น 207 รายการ และเกาหลีใต้ 413 รายการ โดยสินค้าที่เกาหลีใต้เปิดตลาดเพิ่ม เช่น ผัก ผลไม้แปรรูปและไม่แปรรูป น้ำมันที่ได้จากพืช ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้งมันสำปะหลัง สินค้าประมง พลาสติก เครื่องแก้ว ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ด้ายทำด้วยยางวัลแคไนซ์ รถจักรยาน เครื่องยนต์เรือและส่วนประกอบ กระเบื้อง ซีเมนต์ เป็นต้น ญี่ปุ่น เช่น สินค้าประมง ผัก ผลไม้ปรุงแต่ง แป้งสาคู น้ำมันถั่วเหลือง กาแฟคั่ว น้ำผลไม้ เป็นต้น และจีน เช่น พริกไทย สับปะรดแปรรูป น้ำมะพร้าว ตัวรับสัญญาณโทรทัศน์   สไตรีน ชิ้นส่วนยานยนต์ กระดาษ เป็นต้น  

 

ส่วนการลดภาษี เกาหลีใต้ จะลดภาษีผลไม้สดหรือแห้ง เช่น มังคุด และทุเรียน และผลไม้และลูกนัทอื่นๆ แช่แข็ง จาก 8-45% เหลือ 0% ภายใน 10-15 ปี น้ำสับปะรด จาก 50% เหลือ 0% ภายใน 10 ปี และสินค้าประมง เช่น ปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง และปลา กุ้งแห้ง ใส่เกลือหรือแช่น้ำเกลือ จาก 10-35% เหลือ 0% ภายใน 15 ปี ญี่ปุ่น จะลดภาษีศุลกากรให้กับผักปรุงแต่ง เช่น มะเขือเทศ ถั่วบีน หน่อไม้ฝรั่ง และผงกระเทียม จาก 9-17% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี สับปะรดแช่แข็ง จาก 23.8% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี และกาแฟคั่ว จาก 12% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี และจีนจะลดภาษีสับปะรดปรุงแต่ง น้ำสับปะรด น้ำมะพร้าว และยางสังเคราะห์ จาก 7.5-15% เหลือ 0% ภายใน 20 ปี ชิ้นส่วนยานยนต์ (อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างหรือให้สัญญาณ และที่ปรับกระจกในรถยนต์) ลวดและเคเบิ้ล สำหรับชุดสายไฟที่ใช้ในรถยนต์ จาก 10% เหลือ 0% ภายใน 10 ปี เป็นต้น

 นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกอบการเลือกใช้แหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายมากขึ้น สามารถนำวัตถุดิบที่ได้ถิ่นกำเนิดภายใต้ RCEP มาสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าต่อได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการผ่านถิ่นกำเนิดสินค้า และส่งผลให้การค้า การลงทุนในภูมิภาคขยายตัวเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน จะมีโอกาสด้านการค้าบริการและการลงทุน เพราะกฎระเบียบ RCEP ได้ลดหรือยกเลิกกฎระเบียบและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของภาคบริการ หรือการลงทุนที่ไม่ใช่ภาคบริการ เช่น มาตรการ ขั้นตอนในการขอรับใบอนุญาต และการตรวจสอบคุณวุฒิ คุณสมบัติของผู้ให้บริการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเกินจำเป็น จะช่วยส่งเสริมการออกกฎระเบียบและมาตรการด้านการลงทุนมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นและไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจนเกินจำเป็น นักลงทุนไทยสามารถจัดตั้งกิจการและลงทุนในประเทศของสมาชิกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ ความตกลง RCEP ยังช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในประเทศภาคี RCEP ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น การก่อสร้าง ธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และบันเทิง ประเภทเทคนิคตัดต่อภาพและเสียง การผลิตแอนิเมชัน และค้าปลีก เป็นต้น รวมทั้งช่วยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาไทย โดยเฉพาะการลงทุนในสาขาที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยต่อยอดอุตสาหกรรม S curve ตามนโยบายรัฐบาล เช่น การวิจัยและพัฒนา สิ่งแวดล้อม ICT การศึกษา การซ่อมบำรุงรักษาชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นต้น

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์