รีโนเวทพรรคเก่า - แตกพรรคใหม่ สู้แบรนด์ “ประยุทธ์-พปชร.”

รีโนเวทพรรคเก่า - แตกพรรคใหม่  สู้แบรนด์ “ประยุทธ์-พปชร.”

ท่ามกลางกระแสข่าว “ยุบสภา” ทำให้พรรคการเมืองเกือบทุกพรรค ต้องออกมาเปิดชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เนิ่นๆ พร้อมทั้งเดินสายลงพื้นที่อย่างคึกคักแทบไม่ต่างกับฤดูหาเสียง

แม้รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะครบเทอมสภาในวันที่ 24 มี.ค.2566 ทำให้วาระของรัฐบาลจะเหลืออยู่อีก 1 ปี 5 เดือน แต่ท่ามกลางกระแสข่าว “ยุบสภา” ทำให้พรรคการเมืองเกือบทุกพรรค ต้องออกมาเปิดชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เนิ่นๆ พร้อมทั้งเดินสายลงพื้นที่อย่างคึกคักแทบไม่ต่างกับฤดูหาเสียง

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลจากนักการเมือง-ผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง เพื่อเทียบฟอร์ม “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของแต่ละพรรคการเมือง เพื่อสะท้อนภาพการแข่งขันในสมรภูมิเลือกตั้งครั้งหน้าที่ส่อเค้าจะดุเดือด

“ประยุทธ์”คุมกลไกรัฐ ลุยการเมืองต่อ

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ค่อนข้างแน่นอนว่า เส้นทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเลือกไปต่อด้วยการให้พรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อีกสมัยในการเลือกตั้งครั้งหน้า 

ปฏิเสธไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ มีความได้เปรียบว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอื่น จากการอยู่ในตำแหน่งมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ พ.ค.2557 ย่อมมีขุมข่ายอำนาจในหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นคนของตัวเอง มีอำนาจการบริหารจัดการงบประมาณที่สามารถกำหนดโครงการความต้องการเพื่อตอบสนองประชาชนและพื้นที่ แลกกับคะแนนนิยม จุดนี้จึงเป็นความได้เปรียบสำคัญ

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีกลไก 250 ส.ว.สนับสนุนในการเลือกตั้งครั้งหน้า คุมทหาร ตำรวจ และมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย คุมท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งถือเป็นอีกความได้เปรียบในทางการเมือง

จุดเด่นของ พล.อ.ประยุทธ์ คือบุคลิกความเป็นผู้นำ และการวางบทบาทหรือตำแหน่งในทางการเมือง คือยืนตรงข้ามนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และจุดยืนต่อสถาบันที่ชัดเจน ซึ่งตอบโจทย์คนกลุ่มหนึ่งในสังคม โดยฐานเสียงสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ กทม. และหลายจังหวัดทางภาคใต้

จุดอ่อนของ พล.อ.ประยุทธ์ คือภาพลักษณ์ความเป็นทหารที่พ่วงมากับภาพจำเรื่องการรัฐประหาร สืบทอดอำนาจ เป็นผู้กำหนดกติกา และลงมาเป็นผู้เล่นในสนามการเมือง ภายใต้กติกาที่ตัวเองได้เปรียบ จึงถูกมองว่าเอาเปรียบคู่ต่อสู้ทางการเมือง

ภาพจำเรื่องความล้มเหลวในการบริหารจัดการโควิด-19 การจัดหาวัคซีน ที่ถูกโจมตีมาโดยตลอด จะเป็นประเด็นให้คู่ต่อสู้นำมาโจมตี รวมถึงการพูดในที่สาธารณะของนายกฯ ด้วยความที่เป็นคนคิดเร็ว พูดเร็ว ทำให้คนฟัง โดยเฉพาะชาวบ้านไม่เข้าใจสิ่งที่นายกฯ ต้องการสื่อสาร 

หลายครั้งในการลงพื้นที่มีข้อสังเกตว่านายกฯ มักพูดในสิ่งที่ตัวเองเข้าใจเพียงคนเดียว แต่กลับเป็นเรื่องไกลตัวชาวบ้าน ที่ยากต่อความเข้าใจ ถึงขนาด ส.ส.หลายคนของ พปชร. ที่ต้อนรับในการลงพื้นที่ ยังสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เข้าใจสิ่งที่นายกฯ พูด หรือพูดง่ายๆ ว่า ไม่รู้เรื่องว่านายกฯ พูดอะไร

การทำงานกับพรรคฝ่ายการเมือง ทั้งพรรคร่วมและ พปชร.ที่มีระยะห่าง โดยให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้า พปชร.ดูแล ซึ่งหลายครั้งนั่งร้านอย่าง พปชร.ก็สั่นคลอนอำนาจพล.อ.ประยุทธ์ จนสุ่มเสี่ยงจะถูกล้มกระดาน ตรงนี้เป็นจุดอ่อนสำคัญที่ส่งผลอย่างใหญ่หลวงกับความมั่นคงทางการเมือง

รีโนเวทพรรคเก่า - แตกพรรคใหม่  สู้แบรนด์ “ประยุทธ์-พปชร.”

“จุรินทร์”ชูภาพลักษณ์-สถาบันการเมือง

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ชื่อของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ หัวหน้า ปชป. เป็นตัวเลือกเดียวของพรรค โดยจะชูจุดเด่นที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่อยู่คู่ประเทศไทยมายาวนาน

“จุรินทร์” มีจุดเด่นที่ภาพลักษณ์ส่วนตัวค่อนข้างอยู่ในแดนบวก ผนวกกับขุนพลข้างกายภายใน ปชป.แพ็คกันแน่น แม้จะมีบางกลุ่มในพรรคไม่พอใจการทำงาน แต่ยังสามารถคอลโทรลพรรคไม่ให้แตกแยกกันได้

นอกจากนี้ “จุรินทร์” ยังมียี่ห้อ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา คอยให้การสนับสนุน จึงสามารถตรึงคะแนนนิยมในภาคใต้ได้พอสมควร

สำหรับจุดอ่อนของ “จุรินทร์” คือภาวะผู้นำไม่สูงมากพอ จนอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน โดยเฉพาะแฟนคลับแดนใต้ ที่แม้จะรู้จัก “จุรินทร์” อย่างดี แต่ถ้าเทียบกับ “หัวหน้า ปชป.” คนอื่น ชื่อของ “จุรินทร์” ยังไม่ดึงดูดใจมากพอ

ขณะเดียวกันผลงานในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลของ “จุรินทร์” แม้จะพยายามประชาสัมพันธ์ตัวเองผ่านสื่อหลายช่องทาง แต่จากการรับรู้ของประชาชน ผลงานที่เป็นรูปธรรมของจุรินทร์อาจยังไม่โดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ชัด

เพื่อไทยขาย“โทนี่”ต้นฉบับประชานิยม

พรรคเพื่อไทย (พท.) ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะส่งใครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อยู่ที่ “โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร จะเป็นคนเคาะ  โฟกัสหลักไปที่เลือดแท้ “ตระกูลชินวัตร” เพราะต้องการชูภาพ ชูนโยบายของ “โทนี่”

แบรนด์ของ “ทักษิณ“สำหรับคนรุ่นเก่า และ”โทนี่” สำหรับคนรุ่นใหม่ ในทางการเมืองยังสามารถขายได้ แต่จะขายดีมากน้อยแค่ไหนต้องวัดกันในสนามเลือกตั้ง โดยเฉพาะภาคเหนือ-ภาคอีสาน ที่ต้องพิสูจน์ว่ามนต์ของ “โทนี่” ยังขลังอยู่อีกหรือไม่

แต่ที่แน่ๆ นโยบายประชานิยมรอบนี้ ทักษิณทุ่มแหลก ขายนโยบายที่สามารถจับต้องได้แบบไม่มีกั๊กอย่างแน่นอน ประจวบกับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศอยู่ในช่วงตกต่ำ ทำให้ประชาชนโหยหา “ผู้นำ” ที่สามารถมีนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ฉะนั้น “โทนี่” จะนำนโยบายที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจยุคดิจิทัลมาเป็นจุดขาย

ดังนั้นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคเพื่อไทยที่ทักษิณจะเป็นคนเลือก จะเป็นคนที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก

ส่วนจุดอ่อนของเพื่อไทย ก็อยู่ที่ตัวของทักษิณเช่นกัน เพราะคนที่ไม่เลือกทักษิณ ไม่มีทางที่จะเลือกพรรคเพื่อไทย แถมพรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย ยังเป็นพรรคที่จะแชร์คะแนนของ “ทักษิณ-เพื่อไทย” ในทุกพื้นที่ หากเพื่อไทยมีคะแนนนิยมส่วนตัวของ “ผู้สมัคร” มาเพิ่ม มีโอกาสที่จะโดนแย่งแต้มจนกระทบต่อจำนวน ส.ส.

อีกทั้งการเปิดตัวแคนดิเดตนายกฯ ที่ล่าช้ากว่าพรรคอื่น อาจจะทำให้ตัวแคนดิเดตไม่แข็งแกร่งด้วยตัวเอง เนื่องจากทักษิณเลือกเล่นเกมกระแส เหมือนที่เคยส่งน้องสาว “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ลุยหาเสียงเพียง 49 วันก่อนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

รวมถึงยุทธศาสตร์ "สู้ไป กราบไป" ถูกสาวก “ 3 นิ้ว” นำไปขยี้จนกลายเป็นบาดแผลทิ่มแทงพรรคเพื่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป้าหมายที่จะดึง “แฟนคลับรุ่นใหม่” จึงถูกทำลายลงอย่างราบคาบ

นอกจากนี้บรรดา “นักรบห้องแอร์” ที่คอยบงการพรรค พึ่งบริการของทักษิณ ทำให้ ส.ส.-สมาชิกพรรค เริ่มไม่พอใจ เพราะไม่มีใครมาเป็นเจ้าภาพดูแล ส.ส. จนอาจส่งผลต่อคะแนนเสียงในพื้นที่ได้

“สุดารัตน์"ไม่เอาประยุทธ์-ไม่ใช่โทนี่

ทางพรรคไทยสร้างไทย ที่นำโดย “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” มีจุดแข็งอยู่ที่การพรรคการเมืองใหม่ ที่สามารถจับต้องได้มากที่สุด และกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทำให้ “บิ๊กเนมการเมือง” ล้มเลิกการตั้งพรรคใหม่ ดังนั้นพรรคของ “สุดารัตน์” จึงน่าจะเป็นปลายทางที่เหมาะให้ “บิ๊กเนมการเมือง” ที่คิดจะตั้งพรรค ไหลมารวมกันที่นี่

ขณะเดียวกัน “สุดารัตน์” มีขุนพลมากหน้าหลายตาที่ทยอยออกจากเพื่อไทย มาร่วมด้วยช่วยกันที่ไทยสร้างไทย แถมคะแนนนิยมในภาคอีสานที่สะท้อนผ่าน “อีสานโพล” ยังเป็นอีกจุดที่ชี้ให้เห็นว่า “คนอีสาน” รู้จัก “สุดารัตน์” เป็นอย่างดี

การเดิมพันเที่ยวสุดท้ายของ “สุดารัตน์” ประกาศตัวชัดเจนว่าไม่เอาเผด็จการ ไม่หนุน “ประยุทธ์” และไม่ใช่พรรคสาขาของ “ทักษิณ” พรรคไทยสร้างไทยจึงอยู่ในโฟกัสการเมือง

อีกจุดแข็งของ “สุดารัตน์” คือชูความเป็นพรรคสายกลาง ไม่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของขั้วใด อาสาเป็นพรรคทางเลือกที่มีนักการเมืองรุ่นเก่า ประสานการทำงานกับนักการเมืองรุ่นใหม่ นอกจากนี้ ยังเปิดพื้นที่-เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมมากขึ้น

สำหรับจุดอ่อนของ “สุดารัตน์” หนีไม่พ้นครหาพรรคแตกแบงค์พันของ “ทักษิณ” โดยเฉพาะประชาชนพื้นที่เขตเมือง พื้นที่ภาคใต้ มักจะเข้าใจว่า “สุดารัตน์” ยังคงร่วมทางกับ “ทักษิณ” อยู่

จึงเป็นโจทย์ที่ “สุดารัตน์” จะต้องสลัดภาพดังกล่าวให้หลุดออกจากตัวให้ได้โดยเร็ว ไม่เช่นนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงที่จะได้ “ประชาชนสายกลาง” ที่ไม่เอาเผด็จการ-ไม่เอาทักษิณ

“กรณ์”วันแมนโชว์ สู่"ผู้นำ"ฟื้นเศรษฐกิจ

พรรคกล้าของ “กรณ์ จาติกวานิชย์” มีจุดแข็งอยู่ที่ตัวของ “กรณ์” เอง ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ เป็นนักธรุกิจที่ได้รับความยอมรับจากหลายภาคส่วน จึงต้องจับตานโยบายทางเศรษฐกิจของ “กรณ์” ว่าจะสามารถจับต้องได้มากน้อยเพียงใด

สำหรับจุดอ่อนของ “กรณ์” อยู่ที่การทำงานของพรรคกล้า ที่เน้นวันแมนโชว์ทุกสายพุ่งไปที่ “กรณ์” แต่ตัวสมาชิกพรรค-ตัวผู้สมัคร ยังไม่มีนักการเมืองระดับแม่เหล็กเข้ามาร่วมงานมากพอ แม้ “กรณ์” จะพยายามลงพื้นที่ถี่ยิบ แต่อย่าต้องยอมรับว่าตัวผู้สมัครส.ส.แทบจะโนเนมทั้งพรรค

ที่สำคัญรัฐธรรมนูญแบบบัตรเลือกตั้งสองใบ ไม่ตอบโจทย์พรรคกล้า-กรณ์ เนื่องจากโอกาสที่จะได้ ส.ส.เขต มีน้อยถึงน้อยมาก โอกาสที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อก็น้อยลงเช่นกัน

“ภูมิใจไทย”ตัวแทนพี่ใหญ่บุรีรัมย์ 

“ภูมิใจไทย”ประกาศ ดัน“อุนทิน ชาญวีรกูล” ชิงแคนดิเดตนายกฯ แบบช้ำๆ ท่ามกลางวิกฤติคะแนนนิยมที่ติดลบ อันมีผลมาจากมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยามนี้ล่วงเลยเข้าปีที่ 2 ซึ่งแม้ในช่วงที่ผ่านมาจะปรากฎภาพการวัดพลังระหว่างพรรคการเมืองจนทำให้การแก้ปัญหาขาดเอกภาพ แต่ในฐานะรองนายกฯ ที่พ่วงเก้าอี้ รมว.สาธารณสุข ต้องยอมรับว่า “อนุทิน” จึงมิอาจหลีกเลี่ยงกระแสที่พุ่งเป้าซ้ำอาจลามไปถึงคะแนนในการเสนอตัวชิงนายกฯในการเลือกตั้งครั้งหน้าอีกด้วย

ทว่า แม้คะแนนนิยมที่ติดลบยามนี้ แต่อีกแง่หนึ่งที่ภูมิใจไทยถือว่าเป็นต่อหลายๆ พรรคการเมืองเวลานี้ และอาจเป็นจุดแข็งในการเลือกตั้งครั้งหน้า รวมถึงการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่มีเพียง “อนุทิน” โดยไม่ต้องมีการเสนอชื่ออื่นให้สมาชิกลังเลใจ นั่นคือ ความเป็น “เอกภาพ” ภายในพรรค ไม่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ขั้วคนนั้น กลุ่มคนนี้มากวนใจ ขณะที่ส.ส.รวมถึงสมาชิกพรรคล้วนมีหน่วยขึ้นตรงเดียวกัน นั่นคือ “บ้านใหญ่บุรีรัมย์” อย่าง เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ที่คอยประคับประคองอยู่เบื้องหลัง และยังเป็นแบรนด์ที่ ภท.นำมาเป็นจุดขาย

เห็นชัดจากท่าทีของ“อนุทิน”ที่ก่อนหน้านี้ออกมายอมรับอย่างไม่มีเหนียมว่า รัฐมนตรีและส.ส.ได้มีโอกาสเข้าพบ “พี่ใหญ่เนวิน” เพื่อขอคำแนะนำในฐานะผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคอยู่เสมอ ฉะนั้นหมากที่ ภท.วางไว้ในยามนี้คือการส่ง ส.ส.และว่าที่ผู้สมัครซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สมัครกลุ่มเดิมๆ รายเดิมๆ อาศัย “ลูกตื๊อ” ลงพื้นที่แบบถี่ยิบหวังพลิกคะแนนนิยม อันอาจส่งผลไปถึงการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯกลับคืนมา

“พิธา ก้าวไกล” ในเงา“ธนาธร” 

ไม่ต่างไปจากพรรคก้าวไกล ที่ประกาศชัดดัน “หัวหน้าทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในบัญชีแคนดิเดตนายกฯเพียงชื่อเดียวชูจุดขายความเป็นคนรุ่นใหม่ เจาะ “กลุ่มยังบลัด” และ “กลุ่มนิวโหวต” ชิงจังหวะในการต่อสู้บนท้องถนนปลุกพลังคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนผ่านประเทศ

ขณะเดียวกันโจทย์ใหญ่ที่ทั้งก้าวไกล และหัวหน้าทิมจะต้องเผชิญเช่นเดียวกัน คือการฉายภาพความเป็น “ทิม พิธา” ที่เป็นหัวหน้าพรรคในฐานะแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล ไม่ใช่ “ทิม พิธา” ที่เป็นตัวตายตัวแทนของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า อดีตแคนดิเดตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เดิม

ภาพลักษณ์ของ “ทิม พิธา” ที่ถูกจดจำจากนโยบายเกษตรก้าวหน้า ความถนัดด้านเทคโนโลยีการเกษตร และการพัฒนาศักยภาพของผลิตภัณฑ์การเกษตร การลงพื้นที่ช่วยแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง จะเป็นจุดแข็งจุดขายสำหรับเกษตรกรซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ก้าวไกลจะผลักดันผู้นำพรรค