"ททท." ลุ้นปลดล็อกเดินทาง ดึงมาเลย์-อินโดเที่ยวไทยรับแผนเปิดประเทศ

"ททท." ลุ้นปลดล็อกเดินทาง ดึงมาเลย์-อินโดเที่ยวไทยรับแผนเปิดประเทศ

“ททท.” ลุ้นรัฐบาลไทย-มาเลย์-อินโดฯ ปลดล็อกมาตรการเดินทาง หลังเร่งระดมฉีดวัคซีน หวังดึงนักท่องเที่ยว “มาเลย์” ข้ามชายแดนขับรถเที่ยวในไทย ขณะที่ตลาด “อินโดฯ” มั่นใจฟื้นตัวได้เร็วตั้งแต่ ก.พ.65 เป็นต้นไป

นางนงเยาว์ จิรันดร ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกัวลาลัมเปอร์ กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลมาเลเซียยังไม่มีนโยบายอนุญาตให้ชาวมาเลเซียออกเดินทางนอกประเทศ ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยเองก็ยังจัดให้มาเลเซียเป็นประเทศความเสี่ยงสูงจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จึงยังไม่มีประเทศมาเลเซียติดอยู่ในรายชื่อ 78 ประเทศที่เดินทางเข้าพื้นที่นำร่องทางการท่องเที่ยว (แซนด์บ็อกซ์) ของไทยได้ ทั้งนี้จึงขึ้นกับรัฐบาลของทั้งสองประเทศเจรจากันเพื่อปลดล็อกให้ชาวมาเลเซียสามารถเดินทางมาเที่ยวไทยได้

ปัจจุบันมาเลเซียระดมฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แก่ประชากรได้ถึง 80% ของประชากรผู้ใหญ่ทั่วประเทศแล้ว โดยฉีดเข็มที่ 1 กว่า 93% และครบ 2 เข็มเกือบ 80% โดยคาดว่าภายในเดือน ต.ค.นี้จะฉีดครบ 100% หากสามารถปลดล็อกการเดินทางของตลาดนักท่องเที่ยวมาเลเซียมาไทยได้ ก็จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวในไทย เพราะก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวมาเลเซียมาเที่ยวประเทศไทยเมื่อปี 2562 มากถึง 4.16 ล้านคน มากเป็นอันดับ 1 ของตลาดมาเลเซียเที่ยวต่างประเทศ โดยนิยมเดินทางข้ามแดนมาเที่ยว จ.สงขลา มากที่สุดถึง 2 ล้านคนเมื่อปีก่อน รองลงมาคือกรุงเทพฯ 6 แสนคน ตามมาด้วย จ.กระบี่ จ.ภูเก็ต และ จ.เชียงใหม่”

สำหรับแผนการทำตลาดมาเลเซียเที่ยวไทยในปี 2565 ททท.จะดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มขับรถเที่ยวเดินทางผ่านด่านทางบกด้วยตัวเองแบบกลุ่มคาราวานขนาดเล็กรวม 8-10 คัน เพื่อรองรับดีมานด์การเดินทางของนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่หากรัฐบาลอนุญาตให้เดินทางต่างประเทศแล้ว ก็อยากเดินทางไปในประเทศใกล้ๆ ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง นอกจากนี้จะมุ่งนำเสนอแพ็คเกจท่องเที่ยวราคาพิเศษ เช่น ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อกระตุ้นยอดขาย โน้มน้าวให้ซื้อก่อนแล้วค่อยเที่ยวทีหลัง รวมถึงการเจาะกลุ่มลักชัวรี ให้ขับรถหรูซูเปอร์คาร์เข้ามาเที่ยวไทย เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเสริมว่า ก่อนหน้านี้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประกาศไทม์ไลน์การเปิดประเทศในระยะที่ 4 ว่ามีแผนทำบับเบิล (Bubble) ระหว่างประเทศกับ 4 ประเทศเพื่อนบ้าน หนึ่งในนั้นคือมาเลเซีย เริ่มตั้งแต่วันที่ 1-15 ม.ค.2565 เป็นต้นไป ในพื้นที่ยะลา (เบตง) นราธิวาส (สุไหงโกลก) สงขลา (ด่านนอก ปาดังเบซาร์) สตูล (วังประจัน)

ด้านนายโสภณ ตันตโยทัย ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานจาการ์ตา กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียไม่ได้มีคำสั่งห้ามชาวอินโดนีเซียเดินทางไปต่างประเทศ แต่ยังมีนโยบายห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ ขณะเดียวกันประเทศไทยยังจัดให้อินโดนีเซียเป็นประเทศความเสี่ยงสูง เนื่องจากในช่วงที่ประเทศไทยเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมานั้น เป็นช่วงที่พบยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในอินโดนีเซียเฉลี่ยสูงถึง 6 หมื่นคนต่อวัน เป็นสถานการณ์เลวร้ายที่สุดในอาเซียน แต่พอกลางเดือน ส.ค.เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน อินโดนีเซียควบคุมการระบาดได้ดีขึ้นมาก พบยอดผู้ติดเชื้อระดับ 3-5 พันคนต่อวัน แต่ก็ยังไม่มีอินโดนีเซียติดอยู่ในรายชื่อ 78 ประเทศที่สามารถเดินทางเข้าแซนด์บ็อกซ์ของไทยได้ ทำให้ดีมานด์เที่ยวบินระหว่างประเทศยังไม่กลับมา สายการบินจึงยังไม่กลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์แบบปกติระหว่างไทย-อินโดนีเซีย

“หากรัฐบาลอินโดนีเซียผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศได้ รวมถึงรัฐบาลไทยผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ก็น่าจะเริ่มมีเที่ยวบินพาณิชย์เพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดอินโดนีเซียเที่ยวไทยน่าจะกลับมาได้เร็ว มั่นใจว่าฟื้นตัวได้ตั้งแต่เดือน ก.พ.2565 เป็นต้นไป จากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ เพราะอย่างสายการบินอินโดนีเซีย แอร์เอเชีย (QZ) ก็ได้แสดงความสนใจทำการบินตรง 2 เส้นทาง ได้แก่ จาการ์ตา-กรุงเทพฯ 3 เที่ยวบินต่อวัน และเดนปาซาร์-กรุงเทพฯ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ ให้สอดรับกับไทม์ไลน์ที่คาดว่าน่าจะมีการเปิดกรุงเทพฯรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ”

หลังรัฐบาลอินโดนีเซียเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ประชากรเข็มที่ 1 แล้ว 81 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรทั้งหมด ส่วนเข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 46 ล้านคน คิดเป็น 22% โดยภายในเดือน ก.ย.นี้ตั้งเป้าฉีดให้ได้วันละ 2.5 ล้านคน และเดือน ต.ค.เป็นต้นไป วันละ 5 ล้านคน สู่เป้าหมายการเปิดประเทศ ฉีดวัคซีนให้ได้ถึง 208 ล้านคนทั่วประเทศ คิดเป็นสัดส่วนเกิน 70% ของประชากรทั้งหมด 273 ล้านคน