ป.ป.ช.คลอด 12 กฎเหล็ก! บังคับใช้“เลขาฯ-ผู้บริหาร”ป้องขัดกันแห่งผลประโยชน์

ป.ป.ช.คลอด 12 กฎเหล็ก! บังคับใช้“เลขาฯ-ผู้บริหาร”ป้องขัดกันแห่งผลประโยชน์

“ป.ป.ช.”คลอด 12 กฎเหล็กเข้ม! ป้องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ห้าม “เลขาฯ-คู่สมรส” เป็นที่ปรึกษาเอกชน-ถือหุ้นบริษัทคู่สัญญา-สัมปทานรัฐเด็ดขาด “ผู้บริหาร” ด้วย งดรับของขวัญ-กำนัลในโอกาสพิเศษ รักษา “ความลับราชการ” เคร่งครัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2564 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยสำนักการขัดกันแห่งผลประโยชน์ จัดทำประกาศสำนักงาน ป.ป.ช. ลงนามโดยนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 เรื่อง มาตรการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม เพื่อให้บุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช.ทราบและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด

โดยการออกประกาศดังกล่าว เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ และได้วางกลยุทธ์ไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) และยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้ครอบคลุมอย่างเป็นระบบ ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 หมวด 6 การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม กำหนดให้ใช้บังคับกับเจ้าพนักงานของรัฐเป็นการทั่วไป

สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานของรัฐอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเชื่อมโยงกับปัญหาการทุจริตของประเทศ โดยอาจนำไปสู่การทุจริตในรูปแบบหนึ่งรูปแบบใด 

ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการทุจริตอันมีที่มาจากการกระทำซึ่งเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม และเป็นการป้องปรามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐและบุคลากรภายในหน่วยงานกระทำการซึ่งอาจเป็นความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมที่นำไปสู่ความผิดทางอาญา จึงเห็นควรวางมาตรการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำผิดอันเป็นการทุจริตและประพฤติมิชอบ และเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานภายในสำนักงาน ป.ป.ช. ให้การดำเนินงานมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นมาตรการเพื่อควบคุมความประพฤติในทางวินัย และสร้างกลไกการรับรู้ รวมถึงการมีส่วนร่วมของบุคลากรในสังกัด ซึ่งการป้องกันการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ถือเป็นนโยบายอันสำคัญ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมถึงผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ ห้ามมิให้ดำเนินกิจการและต้องไม่รู้เห็นยินยอมให้คู่สมรสดำเนินกิจการ ดังต่อไปนี้

(1) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี

(2) เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี เว้นแต่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

(3) รับสัมปทานหรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการ ส่วนท้องถิ่น หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี เว้นแต่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด

(4) เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้น

ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับกับการดำเนินกิจการของคู่สมรสที่ดำเนินการอยู่ก่อนที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะเข้าดำรงตำแหน่ง หรือผู้ได้รับมอบอำนาจจะได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการ

2. เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้องไม่เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้น ภายในสองปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง

3. ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใดนอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย  

การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของบุคคลตามวรรคหนึ่ง จากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือญาติที่ให้ตามประเพณี หรือตามธรรมจรรยาตามฐานานุรูป สามารถกระทำได้

การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใดซึ่งมิใช่ญาติของบุคคลตามวรรคหนึ่งที่มีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาส หรือการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่การให้นั้นเป็นการให้ในลักษณะให้กับบุคคลทั่วไปสามารถกระทำได้ ตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด

เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมาแล้วยังไม่ถึงสองปี จะต้องปฏิบัติตามความในวรรคหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

4. เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ต้องไม่เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยไม่เห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่จะพึงได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น
    
5. เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ต้องไม่ทำงานพิเศษในเวลาราชการและต้องไม่เบียดบังเวลาราชการไปกระทำการใด ๆ เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตน เครือญาติ หรือพวกพ้อง

เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ต้องไม่ทำงานพิเศษนอกเวลาราชการในกิจการซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของงานพิเศษนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่

6. เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ต้องรักษาความลับของทางราชการ และต้องไม่นำข้อมูลนั้นไปแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายให้แก่ตนเอง เครือญาติ หรือพวกพ้อง

เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. จะเปิดเผยข้อมูลซึ่งมีลักษณะเป็นข้อมูลเฉพาะของบุคคลบรรดาที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่มิได้ เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผยตามที่กฎหมายบัญญัติ

7. เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ต้องไม่นำทรัพย์สินของทางราชการไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบหรือโดยทุจริต หรือนำไปแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

การนำทรัพย์สินของทางราชการไปใช้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรการเกี่ยวกับการใช้ทรัพย์สินของทางราชการของสำนักงาน ป.ป.ช. อย่างเคร่งครัด

การอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินของทางราชการต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

8. ผู้ที่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ตามกฎหมาย จะต้องไม่ใช้อำนาจหน้าที่ที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม หรือใช้อำนาจในตำแหน่งไปแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต การบริหารงานบุคคล การบริหารงบประมาณ และการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายในขั้นตอนและกระบวนการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่หรือความสัมพันธ์ส่วนตัวที่มีต่อบุคคลใดมาประกอบการพิจารณาใช้ดุลพินิจ กระทำการหรือไม่กระทำการใดให้เป็นคุณหรือเป็นโทษต่อบุคคลนั้นหรือปฏิบัติต่อบุคคลนั้นต่างจากบุคคลอื่นอันมีลักษณะของการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เพราะมีอคติหรือเลือกปฏิบัติที่เป็นการบิดผันอำนาจ

9. ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ในการมีส่วนร่วม ติดตาม ตรวจสอบการทำงานของบุคลากรภายในหน่วยงานไม่ให้เกิดการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม รวมทั้งชี้ช่องแจ้งเบาะแสหากพบการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนการกระทำในลักษณะดังกล่าว

10. เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. พึงหลีกเลี่ยงในการงดรับของขวัญ ของกำนัล ของฝาก จากผู้มาติดต่อราชการในทุกเทศกาล ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. มีแนวนโยบายให้ถือปฏิบัติ

11. ผู้บังคับบัญชาจะต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี และส่งเสริม ควบคุม กำกับ ดูแล ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตนให้เป็นไปตามประกาศฉบับนี้ 

12. ในการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ตามประกาศฉบับนี้ ให้ถือเป็นนโยบายของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนอาจมีความรับผิดทางวินัย หรือทางอาญา แล้วแต่กรณี

นอกจากการปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้แล้ว เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. จะต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยประมวลจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ด้วย

สาระสำคัญของประกาศดังกล่าว มีทั้งเชิงกฎหมาย เชิงทฤษฎี และบริบทของการปฏิบัติงานซึ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับบุคลากรในสังกัดเพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันการกระทำอันอาจเกิดการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมในการปฏิบัติงานต่อไปได้