รฟท. เล็งสรุป “พีพีพี” รถไฟฟ้าสีแดง พ.ย.นี้

รฟท. เล็งสรุป “พีพีพี”  รถไฟฟ้าสีแดง พ.ย.นี้

ร.ฟ.ท. ลุยพีพีพี 6.7 หมื่นล้าน สร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง 4 เส้นทาง คาดได้ข้อสรุปไม่เกิน พ.ย.นี้ หลังร่างทีโออาร์และราคากลางพร้อมแล้ว คาดเปิดประมูล ม.ค.2565 ก่อสร้าง 3 ปี เปิดบริการปี 2568

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยระบุว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ใน 4 โครงการ วงเงินประมาณ 6.75 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าภายในเดือน ก.ย.นี้ จะมีรายงานความคืบหน้าผลการศึกษารูปแบบ

 

โดยเบื้องต้นต้องทำการศึกษาเปรียบเทียบ อาทิ ร.ฟ.ท.ลงทุนงานโยธา เอกชนลงทุนงานเดินรถ และซ่อมบำรุง หรือจะให้เอกชนลงทุนทั้งหมด ทั้งงานโยธา เดินรถ และซ่อมบำรุง รวมถึงต้องนำเรื่องบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์เข้ามารวมด้วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ และรัดกุม เพื่อให้มีความเหมาะสม

 

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการรายงานผลการศึกษาแล้ว ร.ฟ.ท.คาดว่าจะได้ข้อสรุปของรูปแบบพีพีพีไม่เกินเดือน พ.ย.นี้ เนื่องจากปัจจุบัน ร.ฟ.ท. เตรียมร่างรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) และราคากลางไว้แล้ว เมื่อได้ข้อสรุปรูปแบบพีพีพีจะต้องนำมาปรับปรุงทีโออาร์ และราคากลางใหม่อีกเล็กน้อย จึงคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพื่อเร่งรัดให้มีการเปิดประกวดราคาได้เดือน ม.ค.-ก.พ.2565

สำหรับโครงการที่ ร.ฟ.ท. อยู่ระหว่างศึกษานำมาเปิดพีพีพีนั้น ประกอบด้วย 1. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงรังสิต - ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต) ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6.57 พันล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา)ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 1.02 หมื่นล้านบาท 3.โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช) ระยะทาง 4.3 กม. วงเงิน 6.64 พันล้านบาท และ 4. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ - หัวหมาก) หรือที่เรียกว่า Missing Link ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 4.41 หมื่นล้านบาท

 

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้ ร.ฟ.ท. เร่งผลักดันการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดงทั้ง 4 เส้นทาง เพื่อให้สอดรับกับการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน รวมทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชน อย่างไรก็ดี ร.ฟ.ท.คาดว่ารถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายจะใช้เวลาในการก่อสร้างราว 3 ปี และสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2568

โดยสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในปีแรกของการเปิดให้บริการ คาดการณ์ว่าผู้โดยสารจะอยู่ที่ 28,150 คนต่อวัน ส่วนสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ในปีแรกของการเปิดให้บริการ คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 47,570 คนต่อวัน ขณะที่สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร 55,200 คนต่อวัน

 

สำหรับสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ – หัวหมาก (Missing Link) ขณะนี้ได้ข้อสรุปเรื่องการลงทุนโครงสร้างทางร่วมกับเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) แล้ว โดยหากโครงการใดเริ่มลงมือก่อสร้างก่อน ให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างทางร่วมดังกล่าวด้วย และมาหักค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างภายหลัง

 

ทั้งนี้โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และบางซื่อ - ตลิ่งชัน โดยปัจจุบัน ร.ฟ.ท. ได้เปิดให้บริการแบบเสมือนจริง (Soft Opening) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา ประชาชนสามารถใช้บริการได้โดยไม่คิดค่าโดยสารจนถึงเดือน พ.ย.2564 ก่อนจะเปิดให้บริการแบบเชิงพาณิชย์ เก็บค่าโดยสารอัตรา 12-42 บาท