ไขข้อสงสัย 'COVID-Free Setting' คุมโควิดกิจการหลัง 'คลายล็อกดาวน์' 1 ก.ย.

ไขข้อสงสัย 'COVID-Free Setting' คุมโควิดกิจการหลัง 'คลายล็อกดาวน์' 1 ก.ย.

กรมควบคุมโรค ตอบข้อสงสัย มาตรการ 'COVID-Free Setting' เป็นมาตรการบังคับ หรือ ขอความร่วมมือ ? หลัง ศบค. ผ่อนคลายล็อกดาวน์ เริ่ม 1 ก.ย. นี้ เปิดนั่งทานที่ร้าน เสริมสวย นวดเท้า ห้างสรรสินค้า แต่ยังคงมาตรการส่วนบุคคลและองค์กรเข้มข้น

หลังจากที่มีการประกาศ 'คลายล็อกดาวน์ 1 ก.ย.'  ซึ่งมีกิจการ กิจกรรมบางประเภทที่ได้รับการผ่อนคลาย ได้แก่ ร้านอาหาร นอกอาคารนั่งทานได้ 70% และในห้องแอร์นั่งทานได้ 50%

รวมถึง ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งเปิดได้ถึงเวลา 20.00 น. โดยกลุ่มกิจการที่สามารถเปิดได้ ได้แก่ ร้านเสริมสวย เปิดได้เฉพาะตัดผม เปิดได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง และต้องมีการนัดคิว ร้านนวด เป็นได้เฉพาะนวดเท้า คลินิกเสริมความงาม เปิดจำหน่ายสินค้าเท่านั้น และต้องนัดหมายล่วงหน้า ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ก็ให้เปิดได้ตามเงื่อนไขและมาตรการของร้านอาหารที่มีเครื่องปรับอากาศ รวมถึง ร้านเสริมสวย และร้านนวด (นวดได้เฉพาะเท้า) ที่อยู่นอกห้างด้วย 

  • ข้อปฏิบัติ COVID-Free Setting

อย่างไรก็ตาม ได้มีมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นแนวปฏิบัติสำหรับการเปิดกิจการ กิจกรรมให้ปลอดภัย และยั่งยืน ได้แก่ หลัก COVID-Free Setting เพื่อแนวปฎิบัติของมาตรการองค์กรด้วยหลัก COVID-Free Setting protocol ต้องประกอบด้วย

COVID-Free Environment : จะต้องดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ต้องมีการระบายอาการ สุขอนามัยที่เหมาะสม สะอาดปลอดภัย และต้องเว้นระยะห่าง

 

COVID-Free Personnel : มาตรการในส่วนของผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ พนักงาน จะต้องมีการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ ซึ่งจะมีการเร่งรัดให้ทุกคนได้รับวัคซีนครอบคลุม 2 เข็มมากที่สุด 

COVID-Free Customer :  ลูกค้า ผู้ใช้บริการเข้าร้านไหน ต้องร่วมมือกับมาตรการตามร้านนั้นๆ และลูกต้องมี Green Card (วัคซีนครบตามเกณฑ์) Yellow Card (เคยติดเชื้อ หรือ ATK เป็นลบภายใน 7 วัน)

นอกจากนั้น จะต้องมีมาตรการกำกับติดตาม โดยผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

163013975920

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ย้ำเป็นมาตรการขอความร่วมมือ

อย่างไรก็ตาม มีข้อสงสัยที่ว่า มาตรการ COVID-Free Setting เป็นบังคับใช้ หรือขอความร่วมมือ วันนี้ (28 ส.ค. 64) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์และแผนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตอบข้อสงสัยดังกล่าวว่า  มาตรการที่ดำเนินการไป มีทั้งเชิงบังคับ เช่น เคอร์ฟิว จำกัดคนที่ทำกิจกรรม และอีกมาตรการคือ เชิงขอความร่วมมือ แต่ทุกมาตรการ ที่ออกไปต้องอาศัยความร่วมมือกับพี่น้องประชาชน หากเราจะอยู่ร่วมกับโควิด-19 ตามโรดแมปที่วางไว้ ความร่วมมือ ของพี่น้องประชาชนสำคัญมาก ดังนั้น ทุกมาตรการ จะต้องทำให้พี่ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และมีความเป็นไปได้

เมื่อมีการเปิดกิจกรรมบางอย่างที่มีความเสี่ยง เราจะต้องหาวิธีลดความเสี่ยง ซึ่งที่ดำเนินการขณะนี้ คือ ฉีดวัคซีน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเสี่ยงนั้นๆ ถัดมา คือ การตรวจหาเชื้อเป็นระยะ ด้วยวิธีอย่างง่าย ATK ขณะนี้มีหลายประเทศดำเนินการแล้ว รวมถึง การใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ หลายมาตรการ ประชาชนดำเนินการได้ดี โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัย แต่มาตรการฉีดวัคซีนก็มีเป้าหมายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

           

  • ขอความร่วมมือ ตรวจ "ATK"

มาตรการที่เป็นมาตรการใหม่ คือ การตรวจหาเชื้ออย่างง่าย ATK มาตรการนี้จะต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนและการตรวจที่มากพอ หากมาตรการนี้เป็นมาตรการเชิงบังคับ อาจจะไม่สะดวกต่อพี่น้องประชาชน ดังนั้น ในเดือน ก.ย. ก็จะเป็นมาตรการในเชิงขอความร่วมมือมากกว่า

แต่หากคุ้นกับมาตรการเหล่านี้แล้ว มีการฉีดวัคซีน หรือ ตรวจ ATK ที่มากพอ ซึ่งคาดว่าจะประมาณ ต.ค. นั้นอาจจะเป็นจุดมาตรฐานที่ทุกหน่วยงานร่วมกันทำและประชาชนให้ความร่วมมือ

สรุปคือ มาตรการที่ออกไป ในเดือน ก.ย. เป็นมาตรการในการขอความร่วมมือกับพี่น้องประชาชน ขณะนี้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมศูนย์การค้า ที่มีการหารือร่วมกันกับ สธ. เป็นความร่วมมือทั้งสองฝ่าย แม้เราจะไม่ได้บังคับแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยืนยันว่าจะทำตามมาตรการนี้

"อย่างไรก็ตาม ช่วงปฏิบัติอาจจะมีความขลุกขลัก ก็จะมีการปรับตัวตามสถานการณ์ ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ร่วมมือกับสมาคม องค์กรต่างๆ ดำเนินการตามมาตรการ หากมีข้อขัดข้อง ขอให้แจ้งมาเพื่อจะได้ปรับมาตรการให้เหมาะสม เพื่อหลังเดือน ต.ค. เมื่อทุกอย่างพร้อม จะทำเรื่องนี้ให้เป็นมาตรฐาน เป็นการใช้ชีวิตใหม่ของพวกเราทุกคน" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว 

  • มาตรการส่วนบุคคล Universal Prevention  

1. ต้องออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น

2. ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้มีโรคเรื้อรั้ง ให้ทุกคนการ์ดสูงสุด หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านเว้นแต่จำเป็นเท่านั้น

3. เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2เมตรในทุกสถานที่

4. สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลาทั้งที่อยู่ในและนอกบ้านที่มีคนมากกว่า 2 คน

5. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก

6. ล้างมือบ่อยๆ

7. ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ

8. แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด

9. เลือกทานอาหารที่ร้านหรือปรุงสุกใหม่

10. หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง ให้ตรวจด้วย ATK