เตรียมตัวให้พร้อม "ร้านนวด-เสริมสวย" คลายล็อก 1 ก.ย. นี้

เตรียมตัวให้พร้อม "ร้านนวด-เสริมสวย" คลายล็อก 1 ก.ย. นี้

หลังจากที่มีการ 'ล็อกดาวน์' จากการระบาดโควิด นอกจากร้านอาหารที่งดนั่งทานแล้ว กิจการกิจกรรมที่หลายคนรอคอย คือ 'ร้านนวด' และ 'ร้านเสริมสวย' มาดูกันว่าหลังคลายล็อก 1 ก.ย.นี้ สามารถรับบริการอะไรได้บ้าง

การระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 4 ในประเทศไทย จนมีผู้ป่วยรายใหม่ทะลุ 2 หมื่นรายติดต่อกันหลายวัน กระทั่งวานนี้ (27 ส.ค.64) ผู้ป่วยรายใหม่ของไทยลดลงมาอยู่ที่ 18,702 ราย เสียชีวิต 273 ราย พร้อมกับมีการ ประกาศคลายล็อคกิจการกิจกรรมบางกลุ่มที่มีการปิดไปก่อนหน้านี้ เริ่ม 1 ก.ย. 64

โดยร้านอาหาร ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มกิจการที่หลายคนรอคอยที่จะได้นั่งทานในร้าน รวมถึง 'ร้านนวด' และ 'ร้านเสริมสวย' ซึ่งถูกปิดตามมาตรการควบคุมการระบาดเช่นกัน 

  • ล็อกดาวน์กระทบ นวด สปา 

จากข้อมูลของสมาคมสปาไทย พบว่า มูลค่าตลาดสปาและนวดแผนไทยอยู่ที่ 30,000 ล้านบาทต่อปี ความเสียหายที่เกิดขึ้นที่ต้องปิดชั่วคราว จึงเห็นผู้ประกอบการธุรกิจสปาและนวดแผนไทยปิดตัวถาวรแล้วกว่า 80% ซึ่งทำให้พนักงานตกงานไปแล้วมากกว่า 2 แสนคน ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการณ์ว่าอุตสาหกรรมธุรกิจบริการสุขภาพมีมูลค่าสูงถึง 4 แสนล้านบาทต่อปี โดยมีแรงงานรวมกว่า 3.5 แสนคน และปัจจุบันตกงานกว่า 80% หลังโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจนี้

  • เสริมสวย เสียหาย 2,000 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 64 ตัวแทน สมาคม ชมรม สถาบัน กลุ่มอาชีพเสริมความงาม ที่นำโดยนางสาวสมเพชร ศรีชัยโย เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอมาตรการผ่อนปรนให้เปิดร้าน เร่งเยียวยา และฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพเสริมความงาม ต่อ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้มทำให้มีผู้ประกอบอาชีพเสริมความงามได้รับผลกระทบจำนวน 34,250 ร้าน กระทบ 153,200 คน และสร้างมูลค่าความเสียหายเกือบ 2,000 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • คลายล็อกฯ 1 ก.ย. นี้

วานนี้ (27 ส.ค. 64) หลังจากที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้มีการนำเสนอมาตรการที่มาจากผู้ประกอบการในส่วนต่างๆ เช่น สมาคมผู้ค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า สมาคมภัตตาคารไทย สภาหอการค้าไทย ถึงการจะเปิด กิจการ/กิจกรรม จะต้องทำอย่างไรให้มีความปลอดภัยสอดคล้องกับมาตรการควบคุมโรคและการแพร่ระบาด

จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มทั้ง 29 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา ระยอง ราชบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ตาก อ่างทอง นครนายก สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี ยังคงมาตรการเข้มงวดเหมือนเดิม และยังคงมาตรการเคอร์ฟิว อย่างน้อย 14 วัน

  • นั่งกินที่ร้านได้ 

สำหรับการเปิดบริการร้านอาหารนั้น แบ่งเป็น

ประเภทร้านอาหารที่อยู่นอกอาหาร หรือในอาคารแต่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ โล่ง อากาศถ่ายเทดี ให้นั่งรับประทานได้ 75%

ส่วนร้านอาหารที่เป็นห้องมีเครื่องปรับอากาศ ให้นั่งรับประทานได้ 50% ผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ต้องมีการกำกับติดตามมาตรการ โดยผู้ประกอบการ สมาคมภัตตาคารไทย และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.

  • ตัดผมในห้างไม่เกิน 1 ชั่วโมง

สำหรับ รายละเอียดผ่อนคลายมาตรการ ในส่วนของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งเปิดได้ถึงเวลา 20.00 น. โดยกลุ่มกิจการที่สามารถเปิดได้ ดังนี้

  • ร้านเสริมสวย เปิดได้เฉพาะตัดผม เปิดได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง และต้องมีการนัดคิว
  • ร้านนวด เป็นได้เฉพาะนวดเท้า
  • คลินิกเสริมความงาม เปิดจำหน่ายสินค้าเท่านั้น และต้องนัดหมายล่วงหน้า
  • ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ก็ให้เปิดได้ตามเงื่อนไขและมาตรการของร้านอาหารที่มีเครื่องปรับอากาศ

ส่วนกลุ่มที่ยังไม่สามารถเปิดกิจการได้ คือ สถาบันกวดวิชา โรงภาพยนตร์ สปา สวนสนุก สวนน้ำ ฟิตเสนส ห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ และห้องจัดประชุม จัดเลี้ยง

163005376130

  • ร้านนวด เสริมสวย นอกห้าง

สำหรับการเปิดกิจการ/กิจกรรมบางประเภท ได้แก่ ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม ร้านนวด(เฉพาะนวดเท้า) อยู่นอกห้างเปิดได้ แต่ต้องเป็นไปตามมาตรการ

  • หลักปฎิบัติร้านค้า COVID-Free Setting 

ขณะที่แนวปฎิบัติของมาตรการองค์กรด้วยหลัก COVID-Free Setting protocol ต้องประกอบด้วย

COVID-Free Environment : จะต้องดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ต้องมีการระบายอาการ สุขอนามัยที่เหมาะสม สะอาดปลอดภัย และต้องเว้นระยะห่าง

 

COVID-Free Personnel : มาตรการในส่วนของผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ พนักงาน จะต้องมีการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ ซึ่งจะมีการเร่งรัดให้ทุกคนได้รับวัคซีนครอบคลุม 2 เข็มมากที่สุด 

COVID-Free Customer :  ลูกค้า ผู้ใช้บริการเข้าร้านไหน ต้องร่วมมือกับมาตรการตามร้านนั้นๆ และลูกต้องมี Green Card (วัคซีนครบตามเกณฑ์) Yellow Card (เคยติดเชื้อ หรือ ATK เป็นลบภายใน 7 วัน)

นอกจากนั้นจะต้องมีมาตรการกำกับติดตาม โดยผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  • มาตรการส่วนบุคคล ป้องกันติดเชื้อครอบจักรวาล

ทั้งนี้ ศบค.ชุดใหญ่ ได้มีการออกมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคที่เข้มข้นมากขึ้น โดย มาตรการ Universal Prevention การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล ซึ่งในส่วนของมาตรการดังกล่าวที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน มีดังนี้

  • ต้องออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น
  • ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้มีโรคเรื้อรั้ง ให้ทุกคนการ์ดสูงสุด หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านเว้นแต่จำเป็นเท่านั้น
  • เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2เมตรในทุกสถานที่
  • สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลาทั้งที่อยู่ในและนอกบ้านที่มีคนมากกว่า 2 คน
  • หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา จมูก
  • ล้างมือบ่อยๆ
  • ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ
  • แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด
  • เลือกทานอาหารที่ร้านหรือปรุงสุกใหม่
  • หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง ให้ตรวจด้วย ATK