ปรับแผนรับมือสู้โควิด หลังพบยอดผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้น

ปรับแผนรับมือสู้โควิด หลังพบยอดผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้น

มมส ยกระดับปรับแผนรับมือสู้โควิด หลังพบยอดผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้น


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เทพลักษ์ ศิริธนะวุฒิชัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เผยว่า โรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ถือเป็นหัวใจสำคัญ ในการตั้งรับกับโรคร้ายครั้งนี้ โดยได้คำนึงถึงการดูแลคนไข้ที่เข้ามารักษาให้มีความอุ่นใจ รักษาหายและส่งกลับบ้านด้วยความปลอดภัยทุกคน

ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีการระบาดระลอกแรกจนถึงระลอก 3 ผู้บริหารมหาวิทยาลัย นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เดินหน้าเตรียมพร้อมรับมือ โดยกำหนดนโยบายและมาตรการความช่วยเหลือต่างๆควบคู่ไปกับการให้บริการทางการแพทย์ที่ปลอดภัยแก่ประชาชนในจังหวัดมหาสารคาม ตลอดจนจัดสรรงบประมาณให้กับโรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ เพื่อสนับสนุนและสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงานที่ได้มาตรฐานในการตรวจรักษาที่รัดกุม รอบคอบและปลอดภัย ซึ่งได้มีการปรับแผนรับมือตามสถานการณ์ ดังนี้

1. จัดสร้างห้องปฏิบัติการอณูชีวโมเลกุลทางการแพทย์ ด้วยงบประมาณกว่า 3,000,000 บาท เพื่อใช้ในการค้นหาผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ WHO กำหนด สามารถวินิจฉัยโรคผู้ป่วยได้อย่างหลากหลายและมีความแม่นยำ

2. ให้บริการคลินิกโรคไข้หวัดเคลื่อนที่ (Mobile ARI clinic) เพื่อลดการกระจายเชื้อและลดความเสี่ยงให้กับเจ้าหน้าที่ แต่สามารถตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะมีทีมแพทย์คอยประสานงานและส่งรถเพื่อไปรับผู้ป่วยมารักษา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

162986412476

3. จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยปรับหอพักนิสิตเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับรองรับผู้ป่วยจำนวน 128 เตียง ทั้งนี้ ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา จำนวน 174 ราย และกำลังรักษา 78 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 96 ราย

4. เตรียมพร้อม Home Isolation สำหรับใช้เป็นสถานที่กักตัวคนไข้ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย มีความเสี่ยงต่ำ (ผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว)โดยปรับหอพักนิสิต จำนวน 2 หลัง ใช้หอพักเบญจมาศ (หอหญิง 33 ห้อง) และหอปาริชาติ (หอชาย 36 ห้อง) ซึ่งคนไข้จะต้องปฏิบัติตนตามข้อปฏิบัติทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด มหาวิทยาลัยดูแลอาหารให้ 3 มื้อ มีปรอทวัดไข้ มีเครื่องวัดออกซิเจน มีการสื่อสารผ่านวีดีโอคอลเพื่อซักถามอาการระหว่างแพทย์กับคนไข้อย่างใกล้ชิด

5. เร่งฉีดวัคซีนให้บุคลากรและนิสิต โดยขอรับวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ว.) เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อให้กับทุกคนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

6. เปิดรับบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ ชุด PPE หน้ากาก N95 เครื่องสกัดออกซิเจน ถุงมือ น้ำยาฆ่าเชื้อ และอุปกรณ์อื่นๆ สำหรับใช้ป้องกันตนเอง

ทั้งนี้ การปรับแผนรับมือดังกล่าว แม้ว่าเราจะมีเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน และมีทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่เข้มแข็ง แต่ก็ต้องได้รับความร่วมมือด้วยดีจากทุกฝ่าย จึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความปลอดภัย ร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด สวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือให้สะอาดหลีกเลี่ยงพื้นที่เสียงและงดรวมกลุ่ม