‘ม่อน อาชีวะ’ ตัวละครลับ สมรภูมิ 'ดินแดง'

‘ม่อน อาชีวะ’ ตัวละครลับ สมรภูมิ 'ดินแดง'

ช่วงที่ “จตุพร” เดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาล “ม่อน อาชีวะ” นำทีมการ์ดอาสามาช่วย พลันที่จตุพรต้องเข้าเรือนจำ “ม่อน อาชีวะ” นำทัพไทยไม่ทน เคียงข้าง “เจ๋ง ดอกจิก” ที่น่าแปลกใจกลุ่ม “ม่อน อาชีวะ” มีกำลังคนไม่ถึง100 คน แต่วันนี้กลับมีสมาชิกเพิ่มทวีคูณ

คนเสื้อแดงอาจรู้สึกว่า การปะทะกันระหว่างตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) กับม็อบเยาวชนคนรุ่นใหม่ เหมือนฉายหนังเรื่องเก่า เพราะเมื่อปี 2553 สมรภูมิสามเหลี่ยมดินแดง ก็ดุเดือดเลือดพล่าน ไม่แพ้สถานการณ์วันนี้

ตัวละครหลักฝ่ายประชาธิปไตยคือ กลุ่มสองล้อ (มอเตอร์ไซค์) ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น และมีจำนวนไม่น้อยมาจากนักเรียน-นักศึกษาอาชีวะ 

ย้อนไปดูแนวรบเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ลุกขึ้นมาจัดการชุมนุมประท้วงครั้งแล้วครั้งเล่าในรอบปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า กลุ่มอาชีวะเข้ามามีบทบาทค่อนข้างเยอะ

“โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ จัดตั้ง “การ์ดวีโว่” ก็มาจากนักศึกษา “สามพระจอม” หมายถึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง

ตามมาด้วยนักเรียนอาชีวะสาย “ฟันเฟืองประชาธิปไตย” หรือ “ฟันเฟืองธนบุรี” สายตรงของ “ตั้ง อาชีวะ” อดีตแกนนำเสื้อแดงที่ลี้ภัยอยู่นิวซีแลนด์

“กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชน” นำโดย เกวลัง ธัญญเจริญ หรือ “เก่ง อาชีวะ” หรือ “เก่ง นครหลวง” กลุ่มนี้มีบทบาทค่อนข้างเยอะในสมรภูมิเกียกกาย วันที่มีการ์ดราษฎรปะทะคนเสื้อเหลือง โดยกลุ่มของเก่ง อาชีวะ จะทำงานร่วมกับกลุ่มเฟืองน้ำเงินเพื่อเสรีภาพ

“กลุ่มอาชีวะฟันเฟืองประชาธิปไตย” นำโดย ธนเดช ศรีสงคราม หรือ “ม่อน อาชีวะ” ศิษย์เก่าวิทยาลัยเทคโนโลยีมีนบุรีโปลีเทคนิค กลุ่มของ “ม่อน อาชีวะ” มีจุดยืนชัดเจน ไม่เอาเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ปลายปี 2563 “เฮียบุ๊ง” พ่อยกแห่งชาติ และ “เพนกวิน” ได้ประกาศยุบการ์ดอาสาของกลุ่มราษฎรทั้งหมด สืบเนื่องจากปัญหาความขัดแย้ง ภายในกลุ่มการ์ดอาชีวะ ร้อยพ่อพันแม่

ต้นปี 2564 “ม่อน อาชีวะ” ได้แยกตัวจากเครือกลุ่มราษฎร มาจัดตั้ง “กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ขึ้นใหม่ โดยมีกลุ่มอาชีวะสมุทรปราการ อาชีวะมีนบุรี และอีกหลายสถาบัน เข้าร่วม

ช่วงที่ จตุพร พรหมพันธุ์ ในนาม คณะไทยไม่ทน สามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย จัดกิจกรรมไล่ประยุทธ์ ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถาน พฤษภาประชาธรรม ถ.ราชดำเนิน “ม่อน อาชีวะ” ได้นำทีมงานเข้ามาเป็นการ์ดอาสาให้คณะไทยไม่ทน

หลังจากนั้น “ม่อน อาชีวะ” ได้เข้าร่วมทำกิจกรรม “ไล่ประยุทธ์” กับ “ตู่ จตุพร” ที่สตูดิโอพีซทีวีอยู่เป็นประจำ และเขาได้กลายเป็นหนึ่งในแกนนำของคณะไทยไม่ทน

ช่วงที่ “จตุพร” จัดการเดินขบวนไปทำเนียบรัฐบาล “ม่อน อาชีวะ” ได้นำทีมการ์ดอาสามาช่วย พลันที่จตุพรต้องเข้าเรือนจำ “ม่อน อาชีวะ” จึงต้องนำทัพไทยไม่ทน สามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย เคียงข้าง “เจ๋ง ดอกจิก” ยศวริศ ชูกล่อม 

16 ก.ค.2564 “ม่อน อาชีวะ” ร่วมกับ “ไบร์ท ชินวัตร” จัดการชุมนุมทวงวัคซีนโควิด ที่หน้าประตูทางเข้ากระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี มีการปะทะกับตำรวจ และสามวันถัดมา ตำรวจได้จับกุมตัว “ม่อน อาชีวะ” กับพวก ในข้อหาทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งตอนนี้ อยู่ระหว่างขอประกันตัวชั่วคราว

31 ก.ค.2564 “กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” และ “ชาวสองล้อเยาวชนคนรุ่นใหม่” ในกิจกรรม “รวมพลังคนพันธุ์ R อาชีวะขับไล่เผด็จการ” ที่มีทัพมอเตอร์ไซค์นับพันคัน วิ่งไปทั่วกรุงเทพฯ

ที่น่าแปลกใจ กลุ่ม “ม่อน อาชีวะ” มีกำลังคนไม่ถึง 100 คน แต่วันที่มี “ชาวสองล้อเยาวชนคนรุ่นใหม่” เข้ามาร่วม ปรากฏว่า มีกำลังเพิ่มขึ้นทวีคูณ ซึ่งส่วนใหญ่ สมาชิกกลุ่มสองล้อรุ่นใหม่เป็นเด็กอาชีวะฝั่งธนบุรี

ใครเป็นแกนนำกลุ่มชาวสองล้อเยาวชนคนรุ่นใหม่? จึงสามารถรวบรวม “เด็กแว้น” ได้นับพันคน

1 ส.ค.2564 “ม่อน อาชีวะ” ร่วมขบวนคาร์ม็อบ ในนามกลุ่มไทยไม่ทน ได้จอดรถบรรทุกเปิดเวทีปราศรัยที่หน้า ร.1 ทม.รอ. ถ.วิภาวดี โดยมีกลุ่มสองล้อหลายร้อยคัน หยุดฟังการปราศรัยที่หน้า รพ.ทหารผ่านศึก ก่อนจะเกิดการปะทะกับตำรวจชุดควบคุมฝูงชน 

15 ส.ค.2564 ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จัดกิจกรรม “คาร์ปาร์ค” และ “บก.ลายจุด” จัดคาร์ม็อบเหมือนเดิม ส่วน “ม่อน อาชีวะ” จัดกิจกรรมรวมพลังคนพันธ์ R และชาวสองล้อเยาวชนคนรุ่นใหม่รวมพลังอาชีวะขับไล่เผด็จการอีกครั้ง โดยนัดหมายที่ห้าแยกลาดพร้าว ตอนบ่ายสองโมง

ภาพขบวนสองล้อวิ่งกันเป็นแถวเต็มถนน ทั้งม็อบ 31 ก.ค. และม็อบ 1 ส.ค. ยังเป็นปริศนา ซึ่งม็อบ 15 ส.ค.นี้ “ม่อน อาชีวะ” ประกาศระดมพลอาชีวะครั้งใหญ่

สถานการณ์บนท้องถนน ใกล้เข้าสู่ภาวะโกลาหล ตามทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory)ซึ่งความไร้ระเบียบ มันเกิดขึ้นเมื่อกติกาเก่า กฎเกณท์เก่า และระบอบเก่ากำลังจะหมดสภาพ แต่ระเบียบใหม่ กติกาใหม่และระบอบใหม่ก็ยังไม่ทันเกิด

กองเชียร์เด็กๆ หลายกลุ่ม คาดหวังว่าการจลาจลครั้งใหญ่ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประเทศไทย