'IMT-GT' ชูความร่วมมือเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ฟื้นวิกฤติหลังโควิด

'IMT-GT' ชูความร่วมมือเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ฟื้นวิกฤติหลังโควิด

ที่ประชุมรัฐมนตรี 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย เห็นพ้องแผนงานฟื้นวิกฤติหลังโควิด-19 ชู บีซีจี อุตสาหกรรมฮาลาล "อาคม" ชูแผนงานภูเก็ตแซนบ็อกด์ สมุยพลัสโมเดล ฟื้นท่องเที่ยว ส่วนคนละครึ่งช่วยเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของไทย เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย - ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยมี ดาโต๊ะ ซรี มุสตาปา โมฮาเหม็ด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เป็นประธานที่ประชุม พร้อมด้วย นายไอรลังกา ฮาตาร์โต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานกิจการเศรษฐกิจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย นายอาเหม็ด เอ็ม ซาอีด รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย ดาโต๊ะ ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะผู้แทนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของฝ่ายไทย ร่วมด้วยเจ้าหน้าที่อาวุโสและผู้แทนของมาเลเซียและอินโดนีเซีย มุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนผู้แทนภาครัฐและเอกชนของประเทศสมาชิกแผนงาน IMT-GT เข้าร่วมการประชุม มีสาระสาคัญดังนี้
รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ของ 3 ประเทศรับทราบรายงานผลการดำเนินงานและกิจกรรมตลอดช่วงปี 2563 – 2564 ที่แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังสามารถปรับตัวและดำเนินกิจกรรมที่สำคัญให้สำเร็จลุล่วงไปได้ โดยมีโครงการสำคัญที่คืบหน้า อาทิ การจัดทำกรอบความร่วมมือด้าน การศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกัน (CIQ) เพื่ออำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้าและคนข้ามพรมแดนในพื้นที่ฯ การจัดเตรียมการโครงการนำร่องเพื่อมุ่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของอนุภูมิภาค IMT-GT
การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมืออุตสาหกรรมฮาลาล และการประชุมเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างโครงการเมืองยางและอุตสาหกรรมยางของ 3 ประเทศ รวมถึงการจัดทำแผนดำเนินงานระยะห้าปี พ.ศ. 2565 – 2569 ที่จะใช้เป็นแผนดำเนินงานฉบับต่อไปภายใต้วิสัยทัศน์ พ.ศ. 2579 โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ เน้นการขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน การเติบโตอย่างสมดุลและการจัดทำแนวทางการสร้างความร่วมมือกับหุ้นส่วนการพัฒนา
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนของแผนงาน IMT-GT พ.ศ. 2565 – 2569 ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดการลงทุนในเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลดมลพิษจากภาคการขนส่ง และการใช้ประโยชน์ควบคู่กับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีมูลค่าการลงทุนรวม 5,370 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.79 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ของไทยได้ให้ข้อคิดเห็นว่าประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญต่อการพัฒนาในระดับอนุภูมิภาค อีกทั้งยังสอดรับกับทิศทางของไทยที่กำลังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) รวมถึงโครงการเมืองสีเขียว ในเทศบาลนครสงขลาและเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 
นายอาคมยังได้ใช้โอกาสนี้นำเสนอผลการดำเนินงานของรัฐบาล อาทิ "โครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” และ "สมุย พลัส โมเดล” เพื่อเตรียมความพร้อมการเปิดประเทศรองรับนักท่องเที่ยวและสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมไปถึง "โครงการคนละครึ่ง” ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนและสนับสนุนผู้ประกอบการร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็กในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคให้มากขึ้นเพื่อรองรับภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง
โดยปัจจุบันประเทศไทยได้ดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคใต้รองรับไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา ท่าอากาศยานกระบี่ จังหวัดกระบี่ ท่าอากาศยานภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ท่าอากาศยานสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี และท่าอากาศยานระนอง จังหวัดระนอง เป็นต้น
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีของประเทศสมาชิกแผนงาน IMT-GT ยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างอุทยานธรณีโลกลังกาวี (มาเลเซีย) อุทยาธรณีโลกสตูล (ไทย) และอุทยานธรณีโลกทะเลสาบโตบา (อินโดนีเซีย) ผ่านระบบประชุมทางไกล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการปกป้องและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์ในท้องถิ่น ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งจะนำไปสู่กิจกรรมแลกเปลี่ยนการศึกษาดูงานและการจัดทำแผนการตลาดด้านการท่องเที่ยวร่วมกันของ 3 อุทยานธรณีดังกล่าว
นอกจากนี้ รัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ทั้ง 3 ประเทศ พร้อมด้วยผู้แทนจากธนาคารพัฒนาเอเชียและเลขาธิการอาเซียนได้ร่วมกันให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 27 แผนงาน IMT-GT โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการดำเนินงาน รวมทั้งสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลในทุกสาขาความร่วมมือ อำนวยความสะดวกในการพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกยุคใหม่ ส่งเสริมให้คณะทำงานต่าง ๆ แสวงหาแนวทางความร่วมมือข้ามสาขาอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นในอนาคต และรับทราบข้อริเริ่มจากภาคเอกชนในการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับคณะทำงานทุกสาขาของแผนงาน IMT-GT เพื่อบรรลุเป้าหมายการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19
ในปี 2565 รัฐบาลไทยจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้แผนงาน IMT-GT ทั้งนี้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง การประชุมดังกล่าวจะมีขึ้น ณ จังหวัดภูเก็ต