กูรูเศรษฐกิจชงอุ้มลูกหนี้เพิ่ม 'ลดเพดานดอกเบี้ยรายย่อย-พักหนี้ต่อ-เร่งสินเชื่อฟื้นเอสเอ็มอี’

กูรูเศรษฐกิจชงอุ้มลูกหนี้เพิ่ม 'ลดเพดานดอกเบี้ยรายย่อย-พักหนี้ต่อ-เร่งสินเชื่อฟื้นเอสเอ็มอี’

ศูนย์วิเคราะห์ฯ ทีทีบี ชี้ 3 แนวทางต่อลมลูกหนี้รายย่อย-เอสเอ็มอีเพิ่ม ปรับลดเพดานดอกเบี้ยรายย่อย พักหนี้ ให้ธนาคารไม่ต้องตั้งสำรองเพิ่มการช่วยเหลือดังกล่าว ยันลดดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่ทางออกแม้สถานการณ์เลวร้ายลง

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ธนาคารทหารไทยธนชาต เปิดเผยว่า จากที่ประชุมกนง. วานนี้ (4 ส.ค.) เสียงแตก 4ต่อ2 ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% มองว่าเป็นการส่งสัญญาณ กนง.พร้อมลดดอกเบี้ยถ้าสถานการณ์แย่กว่านี้ และยังไม่ทางออกจากวิกฤติโควิดนี้

สำหรับทางออกสำหรับประชาชนและเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดที่รุนแรงขึ้น มองว่า แม้สถานการณ์จะแย่กว่านี้แต่การลดดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้ช่วยในการลดปัญหาภาระหนี้ให้กับประชาชนและเอสเอ็มอีได้มากนัก และหากลดดอกเบี้ยนโยบาย ดอกเบี้ยเงินฝากลดลงอีก จากปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว

ดังนั้นเสนอแนวทางที่จะช่วยเหลือรายย่อยและเอสเอ็มอีเพิ่มเติมมี 3 แนวทาง คือ ควรปรับลดเพดานดอกเบี้ยรายย่อย ทั้งสินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต เพื่อลดปัญหาภาระดอกเบี้ย ทำพร้อมกับการพักหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ที่ยังต้องช่วยเหลือต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาภาระเงินต้น รวมถึงอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องมีการตั้งสองรองหากเป็นการช่วยเหลือพักหนี้และปรับโครงสร้างหนี้กลุ่มดังกล่าว เพื่อช่วยให้ธนาคารสามารถช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ไม่มีความเสี่ยงต่อฐานะการเงินมากนัก

นอกจากนี้ สำหรับแนวทางการช่วยเหลือเชิงมาตรการที่ออกมาแล้ว เช่น มาตรการพักทรัพย์พักหนี้และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูคงต้องปรับเงื่อนไขให้กลุ่มเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงวงเงินสินเชื่อได้มากขึ้นและครอบคลุมจากปัจจุบันเงื่อนไขอาจยังไม่ตรงจุดนัก

“หากดำเนินการทั้ง3แนวทาง มองว่าน่าจะช่วยลดภาระหนี้ที่เป็นปัญหาของประชาชนและเอสเอ็มอีได้ เป็นประโยชน์กว่าการลดดอกเบี้ยนโยบาย อย่างมีนัยสำคัญ”

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า สำหรับแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอี ยังต้องใช้มาตรการพักหนี้ เพื่อหยุดหนี้ ลดค่าใช้จ่าย และผลักดันการให้เงินสินเชื่อฟื้นฟูกระจายไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีปัญหาให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้มีรายได้ รวมถึงในช่วงนี้ควรมีมาตรการทางการคลังเข้ามาช่วยเหลือเพื่อเติม

มองว่า หากภาครัฐยังไม่สามารถดำเนินการตามแนวทางช่วยเหลือดังกล่าวในช่วงนี้ได้ ก็ยังไม่ควรลดออกเบี้ยนโยบาย แต่หากดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้มากขึ้นแล้ว ก็สามารถลดดอกเบี้ยนโยบาย มาเป็นนโยบายเสริมได้ โดยในการประชุมกนง. รอบหน้า 29 ก.ย.นี้ มีโอกาสเห็นการปรับลดดอกเบี้ยได้ หากเศรษฐกิจยังแย่ลงอย่างชัดเจนและไม่มีเครื่องมือเพิ่มเติมหรือมีเครื่องมือแต่ต้องการดอกเบี้ยมาเป็นแรงส่ง

ล่าสุด ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือของธปท. ในปัจจุบัน สำหรับมาตรการสินฟื้นฟู มีการอนุมัติวงเงินแล้ว 82,767 ล้านบาท คิดเป็น 33% ของวงเงินสินเชื่อฟื้นฟูทั้งสิ้น 250,000 ล้านบาท และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ มีการอนุมัติวงเงินแล้ว 1,060 ล้านบาท คิดเป็น1.06%ขอวงเงินมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ทั้งสิ้น 100,000ล้านบาท