เช็ค! 4 ช่องทางช่วยเหลือ 'กลุ่มเปราะบาง'ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

เช็ค! 4 ช่องทางช่วยเหลือ 'กลุ่มเปราะบาง'ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

พม. เผยยอด 7 วัน ช่วยเหลือ 'กลุ่มเปราะบาง' ทั่วประเทศได้กว่า 10,000 ราย ที่ได้รับผลระทบจากโควิด-19 พร้อมแนะ 4 ช่องทางติดต่อช่วยเหลือ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อประชาชนในวงกว้างทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

  • ตั้ง'ศูนย์ปฏิบัติการบริหารภาวะวิกฤติโควิด-19' ช่วย'กลุ่มเปราะบาง'

วันนี้ (4 ส.ค. 64) นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เปิดเผยว่า  กระทรวง พม. มีความห่วงใยประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะ กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน และผู้ด้อยโอกาส ที่มีความเสี่ยงสูงที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

ทั้งนี้ เพื่อให้การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบด้วยความรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ จึงมีการดำเนินการ จัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการบริหารภาวะวิกฤติโควิด-19 กระทรวง พม. เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านข้อมูล การช่วยเหลือ การสื่อสารสังคม การรายงานและติดตามผล

โดยทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 เพื่อประสานส่งต่อการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจนสิ้นสุดกระบวนการ และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการบริหารภาวะวิกฤติโควิด- 19 ระดับจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 รับแจ้งเหตุและปัญหาความเดือดร้อน รวมทั้งประสานการช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  • ช่วยเหลือ'กลุ่มเปราะบาง'ไปแล้วกว่า 10,000 ราย

นางพัชรี กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. 64 ถึงวันที่ 3 ส.ค. 64 กระทรวง พม. ได้ดำเนินการช่วยเหลือประชาชน กลุ่มเปราะบาง ที่เป็นผู้ป่วยโควิด-19 และประสบปัญหาทางสังคมทั่วประเทศ รวมจำนวน 11,554 ราย แบ่งเป็นในพื้นที่ กทม. 1,253 ราย และส่วนภูมิภาค 10,301 ราย แบ่งเป็น

1. เด็กและเยาวชน 2,366 ราย

2. คนพิการ 2,521 ราย

3. ผู้สูงอายุ 1,995 ราย

4. ผู้ป่วยติดเตียงและป่วยเรื้อรัง 135 ราย

5. คนเร่ร่อนและคนไร้ที่พึ่ง 158 ราย

6. สตรีตั้งครรภ์ 24 ราย 

7.ผู้ประสบปัญหาทางสังคมอื่นๆ 4,355 ราย

  • 4 ช่องทางติดต่อช่วยเหลือ'กลุ่มเปราะบาง'ประสบโควิด-19

โดย กระทรวง พม. ได้ให้การช่วยเหลือ ดังนี้

1. กระบวนการสังคมสงเคราะห์ ได้แก่ การให้คำปรึกษา 2,939 ราย  ประสานส่งกลับภูมิลำเนา 66 ราย  ประสานส่งต่อ 600 ราย  การมอบเครื่องอุปโภคและบริโภค 10,913 ชุด และการช่วยเหลือเป็นเงิน 6,005,568 บาท

2. ประสานกระบวนการสาธารณสุข ได้แก่ การตรวจเชื้อ 170 ราย  การรักษา 655 ราย ฉีดวัคซีน 2,039 ราย และ จัดหาที่พักชั่วคราวและศูนย์พักคอย 562 ราย

นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า หากประชาชน กลุ่มเปราะบาง ที่กำลังประสบปัญหาทางสังคม และได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของโรคโควิด-19 สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่

1) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร.1300

2) สายด่วนคนพิการ โทร. 1479

3) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ 

4) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่