BPP จ่อปิดดีลโรงไฟฟ้าก๊าซสหรัฐ 2 แห่ง กำลังการผลิต 700-1,000 เมกะวัตต์

BPP จ่อปิดดีลโรงไฟฟ้าก๊าซสหรัฐ 2 แห่ง กำลังการผลิต 700-1,000 เมกะวัตต์

BPP เล็งปิดดีลซื้อโรงไฟฟ้าสหรัฐ 2 แห่ง ไตรมาส 3/64 กำลังผลิต 1.4-2 พันเมกะวัตต์ ดันกำลังการผลิตสิ้นปีนี้แตะ 2.94 พันเมกะวัตต์ หนุนรายได้ปี 64 เติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน พร้อมกางแผนระยะยาวปักหมุดลงทุนสหรัฐต่อเนื่อง เหตุนโยบายเอื้อโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3 ปี 2564 บริษัทคาดจะปิดดีลโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐ 2 แห่งกำลังการผลิตแห่งละประมาณ 700- 1,000 เมกะวัตต์  ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างตรวจสอบสถานะของกิจการ (Due Diligence) โดยโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 1 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้เข้ามาในไตรมาสถัดไป และโรงไฟฟ้าที่มีการพัฒนาพื้นที่แล้ว (Brownfield Project) แต่อยู่ระหว่างการสร้างอีก 1 แห่ง คาดว่าจะใช้ระยะเวลานานกว่าโครงการแรก แต่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่า

ส่วนโครงการที่จะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) และเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส3 ปีนี้  ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินซานซีลู่กวง (SLG) กำลังการผลิต 396 เมกะวัตต์  จากปัจจุบันอยู่ระหว่างรอคำสั่งจ่ายไฟฟ้าจากทางการซึ่งโรงไฟฟ้า SLG จะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายของบริษัท จากแผนดำเนินการในระยะข้างหน้าที่จะเน้นพลังงานสะอาดมากขึ้น

ส่วนการลงทุนผ่านการเข้าไปถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ประเทศออสเตรเลีย 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 166.8 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เบอริล (Beryl หรือ BSF)กำลังการผลิต 110.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มานิลดรา (Manildra หรือ MSF)กำลังการผลิต 55.9 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้ง 2 โครงการเป็นโครงการที่เปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์แล้ว จึงคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 3 ปี 2564

162746708849

ขณะที่การลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนาม 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 68 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลม  เอลวินหมุยยิน (El Wind Mui Dinh) กำลังการผลิต 38 เมกะวัตต์ ซึ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วตั้งแต่ปี 2563 และโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) เฟสแรก กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่บริษัทก่อสร้างเองและคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2564 แต่ยอมรับว่ามีความท้าทายจากสถานการณ์โควิด-19 ในเวียดนาม รวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงการซื้อขายไฟฟ้าหลังวันที่ 1 ต.ค.

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เคเซนนุมะ (Kesennuma) กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ชิราคาวะ (Shirakawa) กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564

ทั้งนี้ จากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา หนุนให้ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะเติบโตต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกที่ผ่านมา และจะส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทปี 2564 เติบโตจากปีก่อนที่มีรายได้ 6,526.59 ล้านบาท จากการเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ โดยคาดว่ากำลังการผลิตรวมจะเพิ่มขึ้นทะลุ 2,946 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ 2,856 เมกะวัตต์ สอดคล้องกับเป้าหมาย 5 ปี (2564-2568) ที่บริษัทคาดว่ากำลังการผลิตจะเติบโตแตะ 5,300 เมกะวัตต์

ส่วนการลงทุนในระยะข้างหน้า นายกิรณ กล่าวว่า บริษัทจะเดินหน้าลงทุนในสหรัฐต่อเนื่อง เพราะเป็นประเทศที่มีโอกาสเติบโตสูงสำหรับตลาดพลังงานสะอาดภายหลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศนโยบายสนับสนุนตั้งแต่ช่วงก่อนเลือกตั้ง สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของ BPP นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศที่บริษัทแม่ บมจ.บ้านปู (BANPU) มีการดำเนินธุรกิจเชลล์แก๊สอยู่แล้วในรัฐเพนซิลเวเนียและรัฐเท็กซัส