ราคาน้ำมันพุ่ง ทำไทยติดหล่ม 'เงินเฟ้อ' ทะยานท่ามกลางเศรษฐกิจซบ

ราคาน้ำมันพุ่ง ทำไทยติดหล่ม 'เงินเฟ้อ' ทะยานท่ามกลางเศรษฐกิจซบ

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวจากพิษโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ในบริบทเศรษฐกิจไทยเส้นกราฟเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับโลก ทำให้การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานเป็นปัจจัยพลักดัน “เงินเฟ้อ” ของไทยให้เพิ่มขึ้น

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) และสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) มอนิเตอร์สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ขณะนี้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระทบต่อการปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ในเบื้องต้น พบว่า ราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นไปแตะระดับเกือบ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เกิดจากกลุ่มโอเปกพลัส ยังไม่บรรลุข้อตกลงปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ และเงินบาทอ่อนค่าลง

โดยราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศยังยึดตัวน้ำมันดีเซล เป็นน้ำมันพื้นฐานที่จะวัดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ โดยยังคงเป้าหมายที่จะดูแลราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้ปรับขึ้นเกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้เกิดภาระต่อประชาชนผู้ใช้น้ำมัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับเครื่องมือที่จะใช้ดูแลราคาน้ำมันดีเซลนั้น ปัจจุบัน ยังมีแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2563 ที่สามารถนำเงินจากกองทุนน้มันเชื้อเพลิง มาชดเชยราคาน้ำมันเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาในช่วงระยะเวลาสั้นๆได้

162549799017

“ตามแผนรองรับวิกฤติฯ จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อ ราคาดีเซลจะทะลุเกิน 30 บาทต่อลิตร และภายในรอบ 1สัปดาห์ ราคาขายปลีกปรับขึ้นเกิน 1 บาทต่อลิตร แต่เท่าที่ดูตอนนี้ ดีเซลอยู่ที่ 26.29 บาทต่อลิตร (ราคา ล่าสุด ณ.วันที่ 3-7 ก.ค.64) ยังห่างจากเพดานที่ตั้งไว้ จึงยังไม่เข้าข่ายวิกฤต”

ปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯ มีเงินอยู่ในมือที่จะใช้ดูแลราคาน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) หรือ ก๊าซหุงต้ม อยู่ที่ประมาณ 17,972 ล้านบาท ซึ่งหากสถานการณ์ราคาน้ำมันและราคา LPG ยังอยู่ในระดับปัจจุบัน จะสามารถดูแลราคาน้ำมันและราคาLPG ไปได้อีกประมาณ 10 เดือนจากนี้ เนื่องจากปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯ ยังรับภาระดูแลราคา LPG ทำให้เกิดเงินไหลออกเดือนละประมาณ 1,000 ล้านบาท และดูแลราคาน้ำมันโดยเฉพาะเชื้อเพลิงชีวภาพ ทำให้เกิดเงินไหลออกเดือนละประมาณ 700 ล้านบาท หรือ มีเงินไหลออกรวมเดือนละประมาณ 1,700 ล้านบาท

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2564 ได้ติดตามถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา และได้รับรายงานข้อมูลคาดการณ์ทิศราคาน้ำมันจาก สกนช. ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเชิญทีมวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันกลุ่ม ปตท. หรือ ปริซึม มาให้ข้อมูลพบว่า ยังคงประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบปีนี้ จะยังไม่สูงเกิน 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้ว่าช่วงนี้ราคาน้ำมันจะผันผวนปรับขึ้นตามสถานการณ์ต่างๆในตลาดโลก แต่เพื่อเป็นการณ์ไม่ประมาททางกระทรวงพลังงาน ก็ได้กำชับสนพ. และสกนช.ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

วิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมิ.ย.2564 เพิ่มขึ้น 1.25% สาเหตุมาจากการสูงขึ้นของราคาพลังงาน 8.95% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นสูงถึง 27.60% และยังมีการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มอาหารสด 

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 คาดว่าไตรมาส 3 จะขยายตัว 2.13%ไตรมาส 4 ขยายตัว 2.37%เพราะยังคงได้รับอิทธิพลจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง