สัญญาณเติบโตหุ้นแบงก์แผ่ว สวนทางฐานะการเงินพร้อมปันผล

สัญญาณเติบโตหุ้นแบงก์แผ่ว  สวนทางฐานะการเงินพร้อมปันผล

ข่าวบวกสำหรับหุ้นกลุ่มแบงก์ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา  เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)อนุมัติให้แบงก์พาณิชย์สามารถจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลปี 2564 ได้ ทำให้ภาวะการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ กลับมาน่าสนใจอีกครั้ง

ท่ามกลางผลกระทบจากโควิด ปัญหาการบริหารวัคซีนที่ไม่เป็นบูรณาการ จนทำให้มีความวิตกถึงแผนการเปิดเมืองเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ

ปัจจัยบวกสำหรับแบงก์ยังมีเพิ่มเติมทั้ง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดชั้นสินทรัพย์และกันเงินสำรอง และลดต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงินด้วยการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ต่อไปอีกถึงสิ้นปี 2564 ที่ 0.23  % และ ธปท.เปิดทางจะพิจารณาการจ่ายเงินปันผลงวดประจำปี 2564 ให้อีกในช่วงไตรมาส 4

เฉพาะประเด็นดังกล่าวเพียงพอที่จะทำให้หุ้นกลุ่มแบงก์ฟื้นตัวได้   ด้วยหุ้นบิ๊กแคปที่ไม่สามารถจ่ายปันผลได้ทำให้ความน่าสนใจการลงทุนในหุ้นก็จะลดลงไปด้วย บวกกับเศรษฐกิจไทยที่ยังย่ำแย่การฟื้นตัวเกิดขึ้นแต่ไม่เท่ากับประเทศอื่นเมื่อเปรียบเทียบ เช่น เวียดนาม  จึงทำให้การปันผลอัตราที่สูงเป็นเสน่ห์ดึงความสนใจของนักลงทุนและสถาบัน

ระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาราคาหุ้นแบงก์ปรับตัวลดลงอย่างหนัก ยิ่งเกิดโควิดระบาดทำให้การเติบโตหรือ จีดีพี ชะงัก มีผลต่อธุรกิจแบงก์ที่อิงกับการเติบโตของประเทศ   เพราะต้องมาพะวงหนี้เสีย (NPL) ที่เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัวเมื่อเกิดวิกฤติใหญ่ในแต่ละครั้ง

ดังนั้นธปท. จึงต้องออกมาขยายมาตรการ 1.ชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ SMEs ที่จะครบกำหนดวันที่ 30 มิ.ย. 2564 ออกไปจนถึงสิ้นปี 64 สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดระลอกให้กำหนดกลไกเพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ โดยพิจารณา (1) ความสามารถในการชำระคืนหนี้ และ (2) ระยะเวลาการจ่ายคืนหนี้ ให้สอดคล้องกับประมาณการรายได้ที่ลูกหนี้จะได้รับในอนาคต

2.หากสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมนอกเหนือจากการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว เช่น การลดเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยค้างรับ การลดอัตราดอกเบี้ย การเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อจากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีการให้สินเชื่อเพิ่มเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ ธปท.จะยังคงความยืดหยุ่นของการบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง

เกณฑ์ดังกล่าวจะสรุปกลายๆ ได้ว่า หากนายแบงก์ยอมที่จะเข้าช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่อนปรนเกณฑ์การชำระหนี้ และปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ธปท. ก็พร้อมที่จะผ่อนเกณฑ์ภาระต้นทุนและยังให้จ่ายปันผลได้อีกด้วย

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) วิเคราะห์หุ้นแบงก์  หลัง ธปท.ขยายเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ SME และอนุญาตให้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้  ซึ่งมีอัตราการจ่ายถูกจำกัดไว้ที่ระดับปี 2563 และ 50% ของกำไรในครึ่งปีแรก  และขยายค่าธรรมเนียม FIDF ลดลง

ทำให้มีมุมมองบวกเล็กน้อยกับข่าวที่ว่าธนาคารต่างๆ สามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้ในปีนี้    เนื่องจากสะท้อนเป็นนัยว่าธนาคารไทยมีระดับเงินทุนที่แข็งแกร่ง สามารถรองรับ ผลกระทบของโรคระบาดได้  

สำหรับข่าวที่เกี่ยวข้อง การขยายมาตรการบรรเทาหนี้  SMEs  คาดการณ์ดำเนินงานทยอยดีขึ้นจากปี 2565 เป็นต้นไป  และยืนยันมุมมองที่ว่ารายรับของธนาคารจะค่อยๆ ดีขึ้นตั้งแต่ปี 2565 โดยได้รับแรงหนุนจากการฉีดวัคซีนและการเปิดประเทศ

โดยในไตรมาส 2 ปี2564  คาดว่า NIM ของภาคธุรกิจจะ ปรับตัวลดลงเนื่องจากลูกค้าอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างใหม่โดยมีระยะเวลาการชำระเงินนานขึ้นและค่างวดรายเดือนที่ลดลง ดอกเบี้ยค้างรับน่าจะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน  เนื่องจากสัดส่วนเงินกู้ภายใต้โครงการบรรเทาหนี้ที่สูงขึ้น   ซึ่งในแง่บวกคาดว่าธนาคารจะบันทึกกำไรจากการลงทุน เพื่อชดเชยกับแนวโน้มรายได้ที่อ่อนแอในไตรมาส 2 ปี2564