'เอ็มจีเอ็ม สตูดิโอ'อาวุธสู้ศึกสตรีมมิงของอเมซอน

'เอ็มจีเอ็ม สตูดิโอ'อาวุธสู้ศึกสตรีมมิงของอเมซอน

ธุรกิจสตรีมมิงร้อนระอุอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด วานนี้ (27 พ.ค.)อเมซอนดอทคอม บรรลุข้อตกลงซื้อกิจการเอ็มจีเอ็ม สตูดิโอส์ ค่ายหนังเก่าแก่ที่มีอายุ 97 ปี ซึ่งผลิตภาพยนตร์คลาสสิกที่หลายคนรู้จักกันดีอย่าง “กอน วิท เดอะ วินด์” “เจมส์ บอนด์” และ “เดอะฮอบบิท”

จริงๆแล้ว เอ็มจีเอ็ม สตูดิโอส์ ประกาศขายกิจการตั้งแต่เดือนธ.ค.ปีที่แล้ว และเป็นหนึ่งในสตูดิโอหนังที่ยังไม่ได้ถูกซื้อกิจการหรือถูกควบรวมกิจการท่ามกลางกระแสควบรวมที่เกิดขึ้นกับสตูดิโอภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายแห่ง โดยเอ็มจีเอ็มเคยหารือกับบริษัทเน็ตฟลิกซ์ แอ๊ปเปิ้ล อิงค์ และบริษัทอีกหลายแห่ง แต่ก็ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ เพราะกระแสแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่กำลังมาแรง ทำให้มูลค่าของเนื้อหาโดยเฉพาะภาพยนตร์ภาคต่อที่ได้รับความนิยมมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ของอเมซอน ถือเป็นการทำข้อตกลงที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับ 2ของบริษัทค้าปลีกแห่งนี้ หลังจากบริษัททุ่มเงินเกือบ 14,000 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อกิจการซุปเปอร์มาร์เก็ต โฮลฟู้ดส์ (Whole Foods) ไปเมื่อปี 2560 และหากการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลกิจการ อเมซอนจะผงาดขึ้นมาเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก จากปัจจุบันที่่ได้รับการยอมรับว่าทรงอิทธิพลและมีมูลค่าสูงที่สุดในโลกอยู่แล้ว

การเข้าซื้อเอ็มจีเอ็ม สตูดิโอส์ของอเมซอนถือเป็นการประกาศตัวร่วมทำศึกในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่างเป็นทางการและแข่งขันกับผู้เล่นที่น่ากลัวอย่าง เน็ตฟลิกซ์ ,ดิสนีย์-พลัส,เอทีแอนด์ที,และดิสคัฟเวอรี ที่เพิ่งควบรวมกิจการสื่อเข้าด้วยกันเมื่อวันที่ 17 พ.ค. และจะปูทางไปสู่ธุรกิจสตรีมมิ่งชั้นนำรายใหม่ที่นำเสนอช่องเอชจีทีวี,ซีเอ็นเอ็น,ฟู้ด เน็ตเวิร์ก และเอชบีโอ

ปัจจุบัน อเมซอนมีสมาชิกกว่า 200 ล้านคนที่สามารถรับชมช่องไพรม์ วิดีโอ เนื่องจากสมาชิกเหล่านี้สมัครบริการไพรม์ เมมเบอร์ชิพเพื่อให้ได้รับออเดอร์ที่สั่งเร็วขึ้นและเพื่อรับสิทธิประโยชน์อื่นๆและนอกจากไพรม์ วิดีโอแล้ว อเมซอนมีบริการสตรีมมิ่งแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายใต้ชื่อไอเอ็มดีบีทีวี(IMDb TV)ที่ทำรายได้จากการลงโฆษณาทางแพลตฟอร์มนี้เป็นหลัก

ส่วนเอ็มจีเอ็ม สตูดิโอส์ เป็นหนึ่งในสตูดิโอผลิตภาพยนตร์เก่าแก่ที่สุดของโลก มีลิขสิทธิ์ภาพยนตร์มากถึง 4,000 เรื่อง และมีคอนเทนต์รายการทีวีรวมมากถึง 17,000 ชั่วโมง ซึ่งนอกจากจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์คลาสสิกชื่อดังแล้ว ยังผลิตซีรีส์อย่าง “แฮนด์เมดส์ เทล” และ “ทีน วูลฟ์”ด้วย

การซื้อกิจการเอ็มจีเอ็ม สตูดิโอยังเปิดโอกาสให้อเมซอนได้ลิขสิทธิ์หนังที่ยังไม่ได้ออกฉายของเอ็มจีเอ็มด้วย อย่างเช่นหนังเจมส์ บอนด์ตอน No Time To Die ที่เลื่อนฉายมาตั้งแต่ปีที่แล้ว, หนังเรื่อง House Of Gucci ของริดลีย์ สก็อต หนังประวัติอารีธา แฟรงกลินเรื่อง Respect , หนังแอนิเมชั่น Addams Family 2 และหนังเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีชื่อของพอล โธมัส แอนเดอร์สัน

ก่อนที่อเมซอนจะเข้าซื้อกิจการสตูดิโอเก่าแก่แห่งนี้ บริษัทค้าปลีกชั้นนำของสหรัฐ ได้เข้าซื้อกิจการบริษัทต่างๆอย่างต่อเนื่องและไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะธุรกิจค้าปลีกเท่านั้น แต่ยังขยายเข้าไปยังธุรกิจด้านการจัดส่ง หรือเรียกรถรับจ้างด้วย เริ่มจากปี 2553 ซื้อเว็บไซต์ช็อปปิงออนไลน์“ไดอะเปอร์ดอทคอม” และ“โซปดอทคอม ควิดซิ” วงเงิน 500 ล้านดอลลาร์ ต่อมาอีกสองปีคือปี 2555 เข้าซื้อบริษัทคิวา ซิสเต็ม อิงค์ในวงเงิน 775 ล้านดอลลาร์

ส่วนปี 2560 หน่วยงานในเครือของอเมซอนซื้อหุ้นในบริษัทช็อปเปอร์ สต็อป จำกัดสัญชาติอินเดียในวงเงิน 1,790 ล้านรูปี (27.6 ล้านดอลลาร์ )และในปีเดียวกัน อเมซอน ได้เข้าซื้อกิจการซุคดอทคอม ค้าปลีกออนไลน์ในตะวันออกกลาง โดยไม่มีการเปิดเผยวงเงิน

ต่อมาในปี2561 เข้าซื้อกิจการร้านขายยาทางออนไลน์ชื่อ“ฟิลล์แพ็ค” เพื่อแข่งขันกับเครือข่ายร้านขายยา ผู้จัดจำหน่ายยาและบรรดาผู้จัดการที่ได้ประโยชน์จากธุรกิจยา และในปีเดียวกันอเมซอนเห็นพ้องซื้อกิจการ“ริง”บริษัทขายกริ่งประตูบ้านไร้สายอัจฉริยะ จากนั้นในปี 2562 อเมซอนเข้าถือหุ้น 49% ในหน่วยงานของฟิวเจอร์ กรุ๊ป ของอินเดียซึ่งเป็นเจ้าของฟิวเจอร์ รีเทล 7.3% ทำให้บริษัทสัญชาติอเมริกันได้ถือหุ้น 3.58% ในบริษัทค้าปลีกชั้นนำของอินเดียที่มีร้านค้าปลีกจำนวนกว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศ

ในปี 2563 อเมซอนซื้อกิจการบริษัทสตาร์ทอัพชื่อ ซุกส์ อิงค์ (Zoox)ให้บริการรถขับเคลื่อนอัตโนมัติมีฐานดำเนินงานอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ท่ามกลางกระแสข่าวว่าการทำข้อตกลงนี้มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์