"จุรินทร์" ลุย"แหลมฉบัง ! นำตรวจ"เรือสินค้าขนาดใหญ่" แก้ตู้สินค้าส่งออกขาดแคลน

"จุรินทร์" ลุย"แหลมฉบัง ! นำตรวจ"เรือสินค้าขนาดใหญ่" แก้ตู้สินค้าส่งออกขาดแคลน

“จุรินทร์” เผย แก้ปัญหาตู้ขาดแคลน ไฟเขียวเรือขนาดใหญ่ 400 เมตรเทียบท่าเรือแหลมฉบัง  ขนสินค้าไทยไปขายได้ 458,000 ตัน มูลค่า 35,000 ล้านบาท เตรียมเจรจาแก้ไขเปิดให้เทียบท่าได้ถาวร

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมเรือสินค้า MSC Amsterdam ที่เข้าเทียบท่าท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี  ว่า ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์หรือตู้สินค้า ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ในการส่งออกของไทย ซึ่งตนได้มีการประชุมกรอ.พาณิชย์ ร่วมกับการท่าเรือและภาคเอกชนมาโดยใกล้ชิด และแก้ไขให้เรือขนาดใหญ่ขนาด 300-400 เมตรเข้ามาเทียบท่าเรือเหลมฉบัง  เพื่อขนตู้เปล่าเพื่อบรรจุสินค้าไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น ล่าสุดวันที่ 5 พ.ค.เรือขนาดใหญ่  399 เมตรได้เข้ามาเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง สามารถบรรทุกตู้สินค้าเข้ามาได้ประมาณ 12,000 ตู้ และล่าสุดวันนี้(26 พ.ค.) เรือสินค้า MSC Amsterdam ขนาด 399 เมตร ได้เข้ามาอีกลำ สามารถบรรทุกตู้เปล่าเข้ามาได้ประมาณ 4,000 ตู้ สามารถบรรจุสินค้าลงไปได้ประมาณ 80,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าสินค้าที่ส่งออกประมาณ 6,000 ล้านบาท และยังมีอีกสองลำที่จะเข้ามาวันที่ 2  มิ.ย.และวันที่ 19 มิ.ย.

" รวมแล้วทั้งหมดจะเป็น 7 ลำ สามารถบรรทุกตู้เปล่าเข้ามาประมาณ 23,000 ตู้ สามารถขนสินค้าออกไปได้ประมาณ 458,000 ตันรวมมูลค่าให้การส่งออกเพิ่มขึ้นจากการได้ตู้เปล่าประมาณ 35,000 ล้านบาท

  162202527787

ขณะนี้ปัญหาตู้สินค้าที่ขาดแคลนเริ่มเข้าสู่สภาวะสมดุลความต้องการ โดยไทยใช้ตู้เปล่าเดือนหนึ่งประมาณ 128,000 ตู้ อย่างไรก็ตามต้องติดตามสถานการณ์และกรมเจ้าท่าต้องอำนวยความสะดวกโดยเร็วที่สุด เปิดโอกาสให้เรือขนาดใหญ่เอาตู้เปล่าเข้ามาและเราส่งสินค้าออกไปได้มากขึ้นจะช่วยให้ตัวเลขส่งออกของเราเป็นบวกได้ต่อและจะเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไป

162202529138

นายจุรินทร์ กล่าวว่า  เชื่อว่าศักยภาพการส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศยังมีเพิ่มขึ้น ภาคเอกชนสายการเดินเรือต้องเข้ามาช่วยในการจัดหาตู้และกรมเจ้าท่าต้องอนุญาตโดยเร็วในการดำเนินการ และได้มีประกาศใหม่ให้ใบอนุญาตสำหรับเรือขนตู้ขนาด 300-400 เมตรภายในเวลา 2 ปี แต่ตนจะไปเจรจาว่าทำไมไม่เป็นตลอดไปเพราะการส่งออกยังเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ หากจำเป็นต้องปรับปรุงร่องน้ำหรือปรับปรุงอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ก็จะต้องลงทุนเพิ่มเติมเพื่อแลกกับตัวเลขการส่งออกที่นำรายได้เข้าประเทศตนเชื่อว่าคุ้มแน่นอน  ซึ่งขณะนี้การส่งออกของไทย เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  ล่าสุดตัวเลขการส่งออกของไทยตั้งแต่ต้นปีเป็นบวก โดยดือนมี.ค.เป็นบวกถึง 8.47% และเดือนเม.ย.บวกถึง 13.09% และยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ดังนั้นการแก้ปัญหาการส่งออกจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญโดยเฉพาะการส่งออกผ่านทางเรือ