'โควิด' ไม่จบ จ่าย 'หนี้บัตรเครดิต' ไม่ไหว ทำยังไงดี?

'โควิด' ไม่จบ จ่าย 'หนี้บัตรเครดิต' ไม่ไหว ทำยังไงดี?

เปิด 3 ทางเลือกแก้ปัญหา "หนี้บัตรเครดิต" ท่วม จ่ายไม่ไหว ที่ช่วยทำให้สามารถจัดการ "หนี้สิน" ในช่วงวิกฤติ "โควิด-19" ให้ผ่านไปได้ด้วยดี

สถานการณ์ "โควิด-19" ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นปี 2563 แถมมีการระบาดระลอกที่ 3 ซ้ำเข้ามาในช่วง เม.ย. 2564 ที่ระบาดเร็วกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะยังคงระบาดรุนแรงไปอีกพักใหญ่ สวนทางกับมาตรการช่วยเหลือหลายโครงการที่กำลังทยอยจบลงปลายเดือน พ.ค.-มิ.ย. นี้ 

ความหนักใจของคน "เป็นหนี้" ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เหล่านี้ และได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องรีบหาทางออกทางการเงิน เพื่อลดภาระ หรือรักษาสถานะลูกหนี้ชั้นดีไว้ให้ได้ โดยเฉพาะหนี้ส่วนบุคคล และหนี้บัตรเครดิต รอที่ดอกเบี้ยเบ่งบานอยู่ตลอดเวลา

จาก ผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้บัตรเครดิตของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า คนกรุงเทพและปริมณฑลเกือบ 80% ใช้บัตรเครดิตโดยไม่จ่ายคืนเต็มจำนวนที่เรียกเก็บตามใบแจ้งยอดในแต่ละรอบบัญชี แต่ใช้วิธีการผ่อนจ่ายอย่างน้อยในอัตราขั้นต่ำตามเงื่อนไของผู้ให้บริการ

ทั้งนี้การชำระหนี้แบบไม่เต็มจำนวนไม่ผิดกติกา และไม่กระทบประวัติทางการเงิน รวมทั้งยังอาจมีส่วนลด เงินคืน ของแถม และคะแนนสะสมไว้แลกของรางวัล เหมือนผู้จ่ายเต็มจำนวน แต่พฤติกรรมเหล่านี้อาจกำลังสะท้อนว่าผู้ใช้บริการกำลังประสบปัญหาทางการเงินอยู่ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติเช่นนี้

 1. หารายได้เสริม และไม่จ่ายบัตรเครดิตแค่ขั้นต่ำ 

ผู้ให้บริการบัตรเครดิตจะเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตรา 16% ต่อปีของวงเงินบัตรที่ใช้ไป โดยคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่รูดบัตรจนถึงวันที่ชำระหนี้กันเลยทีเดียว

ซึ่งยอดเงินที่ชำระหนี้ในแต่ละงวดจะถูกนำ​ไปหักอัตราดอกเบี้ยก่อน ส่วนที่เหลือจึงนำไปตัดเงินต้นที่ค้างชำระ หมายความว่าหนี้บัตรที่ผ่อนจ่ายขั้นต่ำ 5% ของยอดเรียกเก็บ ต้องใช้เวลาประมาณ 7 ปี จึงจะสามารถจ่ายหนี้ที่เกิดขึ้นในรอบบัญชีแรกได้หมด ซึ่งถ้ารอบบัญชีที่ 2,3,4,... ยังคงพฤติกรรมการจ่ายหนี้เช่นเดิม โอกาสการคืนหนี้ได้หมดจะเป็นเรื่องที่ยาก เพราะการจ่ายหนี้ของเราสู้อัตราการทบทวีของเงินต้นและดอกเบี้ยบัตรเครดิตไม่ได้ เมื่อรู้แบบนี้แล้ว หากยังอยู่ในสภาวะที่ผ่อนชำระหนี้ตามปกติไหว ลองหาทางจ่ายบัตรเครดิตเพื่มขึ้นมากกว่าขั้นต่ำ อาจจะมาจากรายได้เสริม เพื่อช่วยวางแผนการชำระหนี้ให้ดอกเบี้ยมีโอกาสโตน้อยที่สุด

 2. ลูกหนี้ดีของเข้ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยได้ 

สำหรับคนที่อยู่ในสถานะ "ลูกหนี้ดี" แต่เริ่มขาดสภาพคล่อง (เป็นหนี้ปกติ ไม่เป็นหนี้เสียหรือเอ็นพีแอล หรือค้างชำระเกิน 3 เดือน ณ วันที่ขอเข้าโครงการ) สามารถติดต่อกับสถาบันการเงินเพื่อเข้ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย โดยเปลี่ยนหนี้บัตรเป็นสินเชื่อเงินก้อน ผ่อนชำระ 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 12% ได้ โดยไม่เสียประวัติเครดิตบูโร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 3. ไม่สามารถผ่อนจ่ายขั้นต่ำได้ 

ในกรณีที่รู้สึกว่าการผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำ เป็นเรื่องที่ยากและตึงมือ ลองเข้ามหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นความร่วมมือของทั้งแบงก์ชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม และกรมบังคับคดีร่วมกับสถาบันการเงิน 23 แห่ง เพื่อปรับโครงสร้างหนี้จากสถาบันการเงิน ซึ่งจะดูจากสถานะหนี้และความสามารถในการผ่อนรายเดือนในปัจจุบัน

หากเป็นเอ็นพีแอล หรือหนี้เสีย ตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 ก.พ. 64 ทั้งก่อนถูกฟ้องและอยู่ระหว่างการฟ้องร้องของสถาบันการเงิน ขอผ่อนจ่ายเฉพาะส่วนเงินต้นได้นานถึง 10 ปี ด้วยดอกเบี้ยเพียง 4-7% โดยดอกเบี้ยค้างยกให้เมื่อจบสัญญา

ขณะที่หากเป็นคดีแดงที่ศาลตัดสินและมีคำพิพากษาบังคับคดีแล้ว ขอจ่ายเฉพาะเงินต้นโดยเลือกได้ 3 เดือน 3 ปี และ 5 ปี โดยดอกเบี้ยค้างยกให้เมื่อจบสัญญา โดยมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 64 

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย