'มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้' ขยายเวลาถึง 30 มิ.ย.64 ใครมีสิทธิบ้าง? ลงทะเบียนอย่างไร?

'มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้' ขยายเวลาถึง 30 มิ.ย.64 ใครมีสิทธิบ้าง? ลงทะเบียนอย่างไร?

ทำความรู้จัก "มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้" ที่ภาครัฐขยายเวลาให้ผู้มีหนี้ได้ลงทะเบียนถึง 30 มิ.ย.64 ใครมีสิทธิบ้าง? ลงทะเบียนอย่างไร? เช็คที่นี่

"มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้" หนึ่งในโครงการที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากต้องยอมรับว่าในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่เชื้อไวรัสแพร่ระบาดเป็นวงกว้างตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ลากยาวมาต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดจากคลัสเตอร์ต่างๆ ทำให้ที่ผ่านมาผลกระทบที่เกิดขึ้น ภาคธุรกิจบางส่วนต้องหยุดชะงัก ส่งผลเป็นลูกโซ่ให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ มีรายได้ลดลง แต่ภาระหนี้ยังคงอยู่ 

ซึ่ง มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นการจับมือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับสำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม และกรมบังคับคดี ในการไกล่เกลี่ยให้ "เจ้าหนี้" และ "ลูกหนี้" หาทางออกในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งเดิมโครงการนี้ได้หมดเขตลงทะเบียนไปเมื่อวันที่ 14 เม.ย.2564 แต่ล่าสุดได้ขยายเวลาลงทะเบียนมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564

161881478684

  • จุดเด่น "มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้" ที่ต่างจากรูปแบบเดิม

จุดเด่นของมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้มี 3 ข้อหลักๆ คือ

1.สามารถไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องได้ จะช่วยลดปริมาณคดีเข้าสู่ศาลได้ ซึ่งต่างจากเดิมที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยก่อนได้

2.สามารถไกล่เกลี่ยออนไลน์ (Online) ได้ นอกจากความสะดวก รวดเร็วแล้ว ยังไม่มีค่าธรรมเนียม และ

3.มีคนกลางเข้าไปช่วยดูข้อเสนอในขั้นตอนไกล่เกลี่ย เพื่อให้เป็นข้อมูลที่ลูกหนี้สามารถทำได้ โดย ธปท.จะเข้ามาช่วยดูข้อตกลงที่จะใช้เป็นแนวทางกลางในการไกล่เกลี่ย

  • ใครมีสิทธิลงทะเบียน "มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้" บ้าง?

1.ลูกหนี้ที่สถานะยังเป็นหนี้ดี (ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน)

สำหรับลูกหนี้ที่สถานะยังเป็นหนี้ดีนั้น แม้ที่ผ่านมาจะจ่ายได้ในอัตราขั้นต่ำ แต่เริ่มขาดสภาพคล่อง เนื่องจากดอกเบี้ยสูง ทั้งนี้สามารถทำได้ลักษณะดังนี้

  • ขอเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิต ที่มีอัตราดอกเบี้ย 16% เป็นหนี้ที่มีระยะเวลาผ่อนนาน 4 ปี และดอกเบี้ยต่ำลงเหลือ 12% มีค่างวดที่แน่นอน ซึ่งจะไม่กระทบกับประวัติในฐานข้อมูลเครดิตบูโร 
    เช่น และยังสามารถขอให้ผู้ให้บริการที่เป็นเจ้าหนี้คงวงเงินบัตรเครดิตบางส่วนเอาไว้ได้ด้วย


    - หากมีหนี้บัตรเครดิต 100,000 บาท หากเลือกผ่อนขั้นต่ำแบบเดิมปีแรกเฉลี่ย 5,000 บาท จะใช้เวลา 84 งวด จึงจะหมด แต่หากเลือกสินเชื่อผ่อนรายเดือน เฉลี่ยงวดละ 3,000 บาท ใช้เวลา 40 งวด

    - หากเป็นบัตรกดเงินสด สามารถเปลี่ยนเป็นหนี้ที่มีระยะผ่อนนาน 4 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 22% 

    - ในกรณีสินเชื่อบุคคล ประเภมทผ่อนรายเดือนที่มีดอกเบี้ย 25% สามารถขอลดดอกเบี้ยลงเหลือ 22% ซึ่งจะช่วยลดค่างวดลงได้ 30% 

161881836950

2.ลูกหนี้ที่สถานะเป็น NPL ทั้งที่ยังไม่ถูกฟ้องหรือถูกฟ้องแล้ว 

สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPL ทั้งที่ยังไม่ถูกฟ้องหรือถูกฟ้งแล้ว ธปท. ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับสำงานศาลยุติธรรม ในการทำคลินิกแก้หนี้ ซึ่งได้มีการปรับเกณฑ์ล่าสุด โดยปรับเกณฑ์ของผู้เข้าร่วมโครงการจากเดิมต้องเป็นหนี้ NPL ก่อน 1 กรกฎาคม 2563 เปลี่ยนเป็นเป็น NPL ก่อน 1 กุมภาพันธ์ 2564 

3.หนี้ NPL ที่มีคำพิพากษาบังคับคดีแล้ว

สำหรับหนี้ NPL ที่มีคำพิพากษาบังคับคดีแล้ว ไม่สามารถเข้ากระบวนการของคลินิกแก้หนี้ได้ ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงขั้นตอนนี้ เจ้าหนี้มักจะไม่ยอมเจรจา แต่ในโครงการ "มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้" เจ้าหนี้จะผ่อนปรนและช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อให้ทุกฝ่ายเดินต่อไปได้ โดยมีผู้ให้บริการทางการเงิน 23 แห่งที่เข้าร่วม ดังนี้

  • ธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น.เอ. ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารธนชาต และธนาคารยูโอบี 
  • SFIs คือ ธนาคารออมสิน 
  • No-bank ได้แก่
    - บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิส จำกัด
    - บริษัท ซิตี้คอร์ปอร์ปลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด
    - บริษัท เทสโก้ โลตัส มันนี่ เซอร์วิส จำกัด
    - บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด
    - บริษัท พรอมิส (ประเทศไทย) จำกัด
    - บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)
    - บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด
    - บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด (บัตร First Choice)
    - บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
    - บริษัท อีซี่ บาย จำกัด (มหาชน)
    - บริษัท ไอทีทีพี จำกัด
    - บริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน)

โดยลูกหนี้ในกลุ่มที่ 2 และ 3 นั้น จะได้รับข้อเสนอทั้งการจ่ายเฉพาะเงินต้น การยกดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมดเมื่อผ่อนชำระเสร็จสิ้นตามสัญญา และมีระยะเวลาผ่อนชำระหนี้นานขึ้นถึง 5 ปี ซึ่งจะช่วยทำให้ค่างวดที่ลูกหนี้ต้องจ่ายไม่สูงมากและอยู่ในวิสัยที่สามารถชำระได้ เช่น ถ้าเงินต้น 50,000 บาท ปีที่ 1-3 จ่ายเดือนละ 1,111 บาท ปีที่ 4-5 เดือนละ 416 บาท เป็นต้น 

161882248219

  • อยากเข้าร่วม "มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้" ต้องทำอย่างไร?

ทั้งนี้ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ สามารถสมัครเข้าร่วมได้ 4 ช่องทางหลักๆ ได้แก่ 

1.เว็บไซต์สำนักงานศาลยุติธรรม https://mediation.coj.go.th/ 

2.เว็บไซต์กรมบังคับคดี www.led.go.th 

3.เว็บไซต์ ธปท. www.bot.or.th หรือ https://www.1213.or.th/App/DMed/V1 

4.หากไม่สะดวกในการกรอกข้อมูลออนไลน์ สามารถติดต่อศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร 1213 ในช่วงวันจันทร์ - ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. หรือสามารถฝากชื่อและเบอร์โทรศัพท์ที่ https://bit.ly/37fP7Dw หรือส่งอีเมลไปที่ [email protected]  ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไป

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย