เปิดเงื่อนไข 'รัฐบาล' กู้เพิ่ม เล็งขยาย 'เพดานหนี้' รับวิกฤติ 'โควิด'รอบใหม่

เปิดเงื่อนไข 'รัฐบาล' กู้เพิ่ม เล็งขยาย 'เพดานหนี้' รับวิกฤติ 'โควิด'รอบใหม่

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการมีผู้ป่วยรายใหม่ และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นไม่ได้ส่งผลต่อระบบสาธาณสุขอย่างเดียวเท่านั้น แต่เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง เสียงเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแล เยียวยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในขณะที่เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ฯ) ลดน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่งบกลางฯรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็น และงบกลางฯโควิด ที่เคยมีอยู่รวมกันประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ก็ลดลงเหลือ 1.2 แสนล้านบาท โดยสำนักงบประมาณระบุว่าในส่วนของงบกลางฯรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินฯที่เหลืออยู่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท จะนำมาใช้ในส่วนของโควิด-19 ได้เพียง 4 – 5 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับเงิน ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯที่เหลืออยู่ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท

เงินที่จะใช้จ่ายในการเยียวยาประชาชนในการระบาดระลอกนี้คงเหลือไม่เกิน 3 แสนล้านบาท

หากเทียบกับการเยียวยาโควิด-19 ในระลอกที่ผ่านมามีการใช้วงเงินกู้ไปประมาณ  3 – 4 แสนล้านบาทในการเยียวยา ช่วยเหลือประชาชน ในการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ผ่านมาช่วงปลายธ.ค. - กลางเดือน พ.ค.เพียงแค่โครงการเราชนะที่จ่ายเงินเยียวยาประชาชนรวม 33.5 ล้านคน คนละ 7,000 บาทก็ใช้เงินไปถึง 2.13 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับโครงการ ม.33 เรารักกันวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท และโครงการคนละครึ่งที่ใช้วงเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

จะเห็นว่าหากรัฐบาลจะทำแพคเกจเยียวยาประชาชนในลักษณะเดียวกันจะใช้เงินไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน นั่นเท่ากับว่าเงินกู้ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ และงบกลางฯที่เตรียมไว้รับมือกับโควิด-19 อาจจะหมดลงหลังการเยียวยาในรอบนี้

ความไม่แน่นอนของโควิด-19 ที่อาจเกิดการระบาดเพิ่มขึ้นได้ในระลอกที่ 4 – 5 ทำให้มีคำถามไปถึงรัฐบาลว่าหากวงเงินที่รัฐบาลมีอยู่ในหน้าตักไม่เพียงพอที่จะรองรับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้น มีความจำเป็นที่จะกู้เงินเพิ่มหรือไม่ ซึ่งเรื่องการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อรองรับวิกฤติและเตรียมพร้อมที่จะลงทุนเริ่มเป็นข้อเสนอจากภาคเอกชน และนักเศรษฐศาสตร์บางคนที่เห็นถึงข้อจำกัดในเรื่องเม็ดเงินที่รัฐบาลมีอยู่

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ยอมรับว่ารัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการในการเยียวยาประชาชนรอบใหม่ออกมาเป็นแพคเกจ ซึ่งในรอบนี้อาจมีวงเงินที่เพียงพอที่จะใช้ แต่ในระยะต่อไปหากมีความจำเป็นรัฐบาลก็ต้องมีการกู้เงินเพิ่มซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องเตรียมพร้อมไว้ทุกสถานการณ์ และถือเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องเรื่องของเงินงบประมาณไว้หากเกิดการระบาดในรอบต่อๆไปขึ้นอีก

ขณะที่เดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ก็ยอมรับว่าการกู้เงินเพิ่มเติมนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมไว้รองรับวิกฤติเป็นเสมือน “กระเป๋าหลัง” ของรัฐบาลหากมีความจำเป็นจริงๆก็ต้องดำเนินการในเรื่องนี้ พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่าในหลายประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19 ก็มีการกู้เงินเพิ่มเติมจนระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมและมีหลายประเทศที่ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเกิน 100 – 150% ไปแล้ว

161918327179

ส่วนเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ที่ 60% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)  ผ.อ.สำนักงบประมาณระบุว่า “ระดับดังกล่าวเป็นเพดานที่ตั้งไว้ในกรณีที่สถานการณ์ในประเทศปกติ  แต่ใน 1 – 2 ปีนี้ สถานการณ์ไม่ปกติหากมีความจำเป็นก็ต้องขยับตรงนี้ออกไปเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์”

ในภาวะที่เกิดวิกฤติขึ้นรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารมีอำนาจในการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งรวมถึงการกู้เงินเพิ่มเติม แล้วค่อยนำไปรายงานให้สภารับทราบและขอการรับรองเหมือนกับที่เคยดำเนินการในปีที่ผ่านมา

แต่ในครั้งนี้หากมีการ ออกพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำก่อนก็คือการขยายแก้ไขกรอบวินัยการเงินการคลังบางรายการก่อนโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่เคยกำหนดไว้ที่ 60% เนื่องจากการกู้เงิน ตาม พ.ร.ก.ที่ผ่านมาทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 57 – 58% ต่อจีดีพีแล้ว 

ทั้งนี้การกู้เงินเพิ่มของรัฐบาลแม้จะมีกรอบวินัยทางการเงินการคลังที่มีการระบุกรอบวินัยทางการเงินการคลังของประเทศที่สำคัญๆ ได้แก่

  • ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่ควรเกิน 60%
  • ภาระหนี้ของรัฐบาลต่องบประมาณการรายได้ไม่เกิน 35%
  • หนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดไม่เกิน 10%
  • ภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริหารไม่เกิน 5%

หากแต่กรอบทั้งหมดนี้กำหนดขึ้นโดยคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง ดังนั้นในภาวะที่มีความจำเป็นการขยายกรอบวินัยทางการเงินการคลังในสัดส่วนต่างๆรวมทั้งกรอบวินัยทางการคลังที่ได้กำหนดไว้ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพีก็สามารถที่จะทำได้โดยคณะกรรมการชุดนี้

โดยหากดูในข้อกฎหมายของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 แม้ในหลักเกณฑ์ของการก่อหนี้สาธารณะได้มีการกล่าวถึง “เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง” เอาไว้ในหลายส่วนเช่นในมาตราที่ 7 ระบุว่าการกู้เงิน การลงทุน การออกกฎหมาย หรือการดำเนินการใดๆของรัฐที่มีผลผูกพันธ์ให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของประเทศด้วยเช่นกัน

ส่วนในมาตราที่ 15 กล่าวว่าในการจัดทำกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้นำแผนการคลังระยะปานกลางมาประกอบการพิจารณา โดยให้คำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ความเป็นธรรมทางสังคม นโยบายงบประมาณ เสถียภาพ และความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ ความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่าย การจัดเก็บรายได้แผ่นดิน สถานะของหนี้สาธารณะ และความสามารถในการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ

 

 

และในมาตราที่ 49 กล่าวว่าการก่อหนี้และการบริหารหนี้สาธารณะและหนี้ของหน่วยงานรัฐต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศและของหน่วยงานของรัฐ ต้องคำนึงถึงความรอบครอบ ความสามารถในการชำระหนี้ เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการเงินการคลังตลอดจนความน่าเชื่อถือของประเทศและของหน่วยงานผู้กู้

จะเห็นได้ว่าข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังไม่ได้ระบุสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไว้ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง แต่ให้น้ำหนักและความสำคัญในวัตถุประสงค์ ความจำเป็น ประสิทธิภาพการกู้เงิน ควบคู่ไปกับความสามารถในการชำระหนี้คืนในอนาคต ซึ่งเกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือของประเทศด้วย

...ในภาวะวิกฤติที่ยาวนาน การกู้เงินมาใช้จ่ายเพิ่มเติมอาจมีความจำเป็นในการดูแล เยียวยาประชาชนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หากแต่ประสิทธิภาพของการใช้เงินกู้ที่เป็นเสมือนการใช้เงินในอนาคตก็มีความสำคัญเช่นกัน

นอกจากการแจกเงินเยียวยา หากมีการกู้เงินก้อนใหม่จริงประชาชนย่อมอยากเห็นการลงทุนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นในอนาคต