รู้จัก 'Cognitive flexibility' ทักษะเพื่อโลกยุคใหม่

รู้จัก 'Cognitive flexibility' ทักษะเพื่อโลกยุคใหม่

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในปัจจุบัน ทำความรู้จัก "Cognitive flexibility" ทักษะเพื่อโลกยุคใหม่ ที่จะพัฒนาไปตามประสบการณ์ในการใช้ชีวิต แล้วทักษะนี้สำคัญกับเราอย่างไร

รศ.ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) มองความท้าทายของโลกยุคใหม่ต้องปรับกลยุทธ์การศึกษา เพิ่มทักษะผู้เรียน “Cognitive flexibilityหาโอกาสและปรับความคิดตามสภาพแวดล้อมใหม่ ผลักดันศักยภาพคณาจารย์ CMMU รับโจทย์ภาคธุรกิจช่วยเปิดโลกนักศึกษา

161760498574
- รศ.ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) -

3 ปัจจัยโลกสะเทือน กับทักษะใหม่ที่ต้องปรับตาม

รศ.ดร.วิชิตา กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงระดับมหภาคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่างแรกคือ โครงสร้างทางอำนาจในโลกกำลังเปลี่ยนไป เอเชียเริ่มก้าวเข้าตามทันอเมริกาและยุโรป โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งจำนวนประชากรที่มีกำลังซื้อมหาศาลและการลงทุนทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ทรัพยากรทั้งหลายกำลังหลั่งไหลเข้ามาในเอเชีย

ข้อถัดมาคือ ประชากรบนโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกว่า 60% ของประชากรอาศัยอยู่ในเมืองหลวงประกอบด้วยสองเจเนอเรชั่นที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ คนที่อยู่ในสังคมสูงวัย (Aging Society) และ คนที่ชอบใช้ชีวิตในสังคมออนไลน์ (Generation Z) ตามมาด้วยข้อที่สามคือ เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาท ทำให้โลกออนไลน์กับโลกความเป็นจริงแทบแยกออกจากกันไม่ได้ ดังนั้น เมื่อการใช้ชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนไป การทำธุรกิจก็ต้องใช้กลยุทธ์ใหม่ และการเรียนรู้เพื่อสร้างธุรกิจใน Business School ก็เปลี่ยนไป

รศ.ดร.วิชิตา กล่าวว่าที่ CMMU ก็มีการเปลี่ยนแปลง เพราะผลกระทบที่เกิดกับธุรกิจทำให้เกิดทักษะใหม่ ย้อนไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน มีการพูดถึงการพัฒนาทักษะการรู้คิด (Cognitive Skills) หมายถึง ความสามารถในคิดและการเรียนรู้ เช่น จากการรับรู้ ความจำ ความสนใจ ทักษะนี้จะพัฒนาไปตามประสบการณ์ในการใช้ชีวิต แต่ในโลกใบใหม่นี้ ทักษะนี้เป็นเพียงพื้นฐานเท่านั้น สิ่งสำคัญคือต้องเพิ่มเติม Cognitive Flexibility หรือ ทักษะในการหาโอกาสและปรับเปลี่ยนความคิดไปตามบริบทหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วจะตามมาด้วยทักษะ Self Management การเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจตัวเอง และปรับตัวเองตามได้

กลยุทธ์ Inside Out – Outside In เพื่อการศึกษาใหม่

สถาบันการศึกษาจึงมีส่วนสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปให้ผู้เรียนได้ปรับตัวเข้ากับโลกยุคใหม่ ต่างจากในอดีตที่มักที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการศึกษาไทยไม่ตอบโจทย์นายจ้างหรือไม่เท่าทันโลกภายนอก ผ่านกลยุทธ์ 2 ขา ได้แก่ “Inside Out” สร้างบรรยากาศภายในวิทยาลัยให้มีความหลากหลาย เนื่องจากมีอาจารย์และนักศึกษาทั้งไทยและต่างชาติ แต่ละคนมีเส้นทางการเรียน (Learning Journey) ไม่เหมือนกัน หน้าที่ของสถาบันการศึกษาคือ สร้างการเรียนรู้เฉพาะบุคคล (Customization) ให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียนและไปถึงปลายทางได้ตามต้องการ

ในขณะที่กลยุทธ์ “Outside Inคือเราอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องร่วมกันมองจากมุมมองคนภายนอกหรือ Stakeholder โดยเฉพาะผู้เรียนว่ามีศักยภาพขนาดไหน รับฟังก่อนว่าต้องการอะไร และเสริมด้วยพันธมิตรจากทั้งในและต่างประเทศมาร่วมกับมอบประสบกาณ์การเรียนรู้รูปแบบใหม่

การศึกษาใหม่ไม่ใช่การเรียนออนไลน์ โควิด-19 เป็นเพียงตัวเร่งในการขึ้นมาอยู่บนออนไลน์ แต่ทาง CMMU ได้มีการเตรียมพร้อมมานานแล้ว เปลี่ยนตั้งแต่ประมวลรายวิชา กิจกรรมในคลาส และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้เอื้อต่อประสบการณ์การเรียนมากที่สุด แท้จริงแล้วการเรียนออนไลน์ถือเป็นโอกาสใหม่ที่เพิ่มช่องทางให้กับผู้เรียน และยังสามารถปรับให้เข้ากับสไตล์ของแต่ละคนได้

3 ส่วนผสม สร้าง “คณาจารย์” ที่ให้มากกว่าในห้องเรียน


รศ.ดร.วิชิตา กล่าวถึงสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ คุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ผสมผสาน 3 ส่วนได้เป็นอย่างดี ได้แก่ การเรียนการสอน (Education) การทำวิจัย (Research) และ บริการทางวิชาการ (Academic Service) โดยอาจารย์ใน CMMU จะมีโอกาสได้พัฒนาตนเองอยู่เสมอตามความเชี่ยวชาญของแต่ละบุคคล อาจารย์จะได้สอนนักศึกษาในวิทยาลัย ทำวิจัยของตนเอง และนำองค์ความรู้ไปอบรมให้คำปรึกษาแก่ภาคธุรกิจภายนอก ไม่เพียงเท่านั้น เมื่ออาจารย์ได้รับโจทย์ใหม่ ๆ จากภาคธุรกิจ จะนำมาเป็นบทเรียนให้กับผู้เรียน และนำมาทำวิจัยต่อยอด ซึ่งให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมหรือเป็นผู้ช่วยวิจัยได้

สำหรับในปี 2564 CMMU มีหลักสูตรรวมทั้งสิ้น 4 หลักสูตร แบ่งเป็นหลักสูตรปริญญาโทภาคภาษาไทยและนานาชาติ หลักสูตรปริญญาเอกภาคภาษาไทยและนานาชาติ อีกทั้งมีความร่วมมือกับสถาบันระดับนานาชาติ อาทิ โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยทั่วโลก, Double Degree ร่วมกับ Macquarie University ประเทศออสเตรเลีย, หลักสูตร Strategy and Innovation for Businesses in Asia (SIBA) สำหรับผู้บริหารระดับสูง โดยความร่วมมือกับ Sloan School of Management, MIT