‘E-mobility’ จุดเปลี่ยน ‘เยอรมนี’ สู่สมาร์ทซิตี้

‘E-mobility’   จุดเปลี่ยน ‘เยอรมนี’ สู่สมาร์ทซิตี้

“เยอรมนี” ประเทศยนตกรรมชั้นเยี่ยม กำลังขับเคลื่อนสังคมด้วยพลังงานสะอาด และหันมาใช้รถอีวี จะช่วยหนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานครั้งใหญ่ จนถึงปัจจุบัน ลดใช้พลังงานจากฟอสซิลไปแล้ว 50% และตั้งเป้าไม่ใช้พลังงานประเภทนี้เลยในปี 2581

เยอรมนี” เป็นประเทศยนตกรรมแห่งยุโรป อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของเยอรมนีนับว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่รถยนต์เป็นงานวิศวกรรมชั้นเยี่ยมที่ชาวเยอรมันภาคภูมิใจ แต่ยังรวมถึงเทคโนโลยียานยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดด้วย 

สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) จัดงาน “พลังงานสะอาดขับเคลื่อนอนาคต” มุ่งนำเสนอการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและคมนาคมขนส่งของประเทศไทย และทั่วโลก ทั้งจากปัจจุบันไปสู่อนาคต ด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้ให้เกิดพลังงานสะอาดที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ลดต้นทุน การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักรู้ด้านพลังงานสีเขียว และเชื่อมเครือข่ายคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน  

ไทยในฐานะประเทศฐานการผลิตรถยนต์ชั้นแนวหน้าในเอเชีย กำหนดทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ประเทศปี 2564 มุ่งปรับตัวเข้าสู่ภาวะการแข่งขันซัพพลายเชนระดับโลก เน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้รับกับเทคโนโลยียานยนต์ในอนาคต ที่ต้องประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีมาตรฐานความปลอดภัยเป็นเลิศ 

“เกออร์ก ชมิดท์” เอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การขับเคลื่อนสังคมยานยนต์ไฟฟ้า (E-Mobility society) เป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด หลายคนกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่มีสโลแกนด์ที่จะช่วยรักษ์โลกได้คือ Less is more  ในที่นี้หมายถึง การลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น

161675247060

ทูตเยอรมนีเสนอแนะสิทธิพิเศษสำหรับผู้ใช้รถยนต์อีวี เช่น การมีลานจอดรถหรือถนนเฉพาะ ลดอัตราค่าผ่านทางพิเศษ มีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้บริการในชุมชนและตามจุดสำคัญต่างๆ ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจแก่ประชาชนให้หันมาให้ความร่วมมือขับเคลื่อนสังคมยานยนต์ไฟฟ้า

ขณะนี้ เยอรมนีอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานครั้งใหญ่ของประเทศ หลายคนหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์และไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และเพิ่มพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างงานให้กับคนในประเทศ ซึ่งเมื่อปี 2563 พบว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในเยอรมนีมากกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 50.5% เป็นโซลาร์เซลล์ ปัจจุบัน มีคนงานในระบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจำนวนกว่า 3 แสนคน และตั้งเป้าจะเพิ่มการจ้างงานอีก 2.7 แสนคนในอีก 10 ปีข้างหน้า 

161675250736

ปัจจุบัน ในเยอรมนีได้จัดผังเมืองที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีการจัดทำเลนสำหรับจักรยาน ลดการพึ่งพารถยนต์ประเภทสันดาปไปพร้อมๆ กับสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์อีวี ขณะเดียวกัน ก็ปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ โดยเยอรมนีเริ่มใช้รถไฟโดยสารที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงขบวนแรกของโลก ในปี 2561 

“มาตรการเหล่านี้ ช่วยสร้างพลังงานสะอาดราคาประหยัดสำหรับทุกคน เพราะการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลน้อยลง จะลดต้นทุนทางเศรษฐกิจ และได้คุณภาพอากาศที่ดีกลับคืนมา ในอีกด้านหนึ่ง นับตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบัน เยอรมนีลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลไปแล้ว 50% และตั้งเป้าจะลดให้ได้อย่างสมบูรณ์แบบในปี 2581” ทูตเยอรมนี ระบุ

161675268633

“สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์” รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงให้ความสำคัญกับนวัตกรรมสมัยใหม่ เปลี่ยนแปลงภาคการขนส่ง และสร้างสังคมสีเขียว ซึ่งไทยได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะที่สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่มีสาเหตุมากจากการจราจรติดขัดในเขตเมือง

ปัจจุบันองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กำลังวางแผนจัดหารถเมล์ไฟฟ้า 2,511 คัน ส่วนกรมการขนส่งทางบกเริ่มจัดทำโครงการลดภาษีรถยนต์ประจำปีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้การใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแพร่หลายเหมือนในประเทศต่างๆ ของยุโรป

161675252791

ขณะที่การพัฒนาระบบรางขณะนี้ได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าระยะทางมากกว่า 170 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 160 กิโลเมตร อีกไม่กี่ปีข้างหน้า กรุงเทพจะเป็นศูนย์กลางพัฒนาระบบขนส่งทางรางมีรถไฟฟ้าถึง 14 สาย รวม 553 กิโลเมตร เชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ที่กำลังก่อสร้างระยะทาง 600 กิโลเมตร เชื่อมกับ 3 สนามบิน และในอนาคต สถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจแห่งใหม่ เชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางรางของกรุงเทพฯ คาดเปิดใช้งานเดือน พ.ย.2564

รองปลัดกระทรวงคมนาคม ยังย้ำว่า กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างศึกษาโครงการรถไฟทางไกล ซึ่งจะเปลี่ยนจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นพลังงานไฮโดรเจน และใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้า ตามแนวคิดเมืองอัจฉริยะโดยจะผลักดันเรื่องนี้ในเมืองใหญ่ อย่าง เชียงใหม่ ภูเก็ต และขยายไปเมืองอื่นๆ ต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0