นโยบายของ 'Biden' โอกาสและผลกระทบต่อประเทศไทย

นโยบายของ 'Biden' โอกาสและผลกระทบต่อประเทศไทย

ส่องนโยบาย "Biden" ที่ได้เสนอในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยเฉพาะนโยบาย CPTTP การเก็บภาษีเพิ่ม รวมถึงการกีดกันการค้าและการกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีส นโยบาลเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแค่ไหน? หรือจะสร้างโอกาสอย่างไรบ้าง?

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งนาย Joe Biden ได้เสนอแผนนโยบายต่างๆ ออกมา โดยนโยบายสำคัญประกอบด้วย นโยบายการกลับเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หรือ TPP, นโยบายเก็บภาษีเพิ่ม ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดา, นโยบายลดการกีดกันทางการค้าและการกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีส โดยนโยบายเหล่านี้ล้วนส่งต่อประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านการค้า การลงทุน สิ่งแวดล้อมและพลังงาน

นโยบายที่จะส่งผลต่อประเทศไทยมากที่สุดน่าจะเป็นการกลับเข้าร่วมใน CPTPP ซึ่งเดิมคือ TPP ที่มีการริเริ่มตั้งแต่ปี 2006 ในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ณ ขณะนั้นมีสมาชิก 12 ประเทศแต่หลังจากที่สหรัฐถอนตัวออกจากความตกลง TPP ในปี 2017 สมาชิกที่เหลือ 11 ประเทศประกอบด้วย แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนามได้ร่วมมือกันทำความร่วมมือต่อในชื่อ CPTPP ซึ่งมีความผ่อนคลายทางด้านกฎเกณฑ์มากขึ้น

ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจของ CPTPP คิดเป็น 13% ของเศรษฐกิจโลก และจากการที่ประเทศไทยมีสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศสูงถึงกว่า 120% ของ GDP ในปี 2019 การเข้าร่วมใน CPTPP จึงอาจส่งผลดีมากกว่าผลเสีย ในด้านการส่งออกและการลงทุนทางตรงจากประเทศในกลุ่ม และเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว จากการพัฒนาในด้านกฎระเบียบต่างๆให้เป็นสากลมากขึ้น แม้ในด้านเกษตรกรรมและสิทธิบัตรยาอาจจะมีปัญหาอยู่บ้างแต่ก็อาจเจรจาต่อรองกันได้

ในการเข้าร่วม CPTPP จึงควรมีการช่วยเหลือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้น้อย แต่ถ้าไทยไม่เข้าร่วมใน CPTPP อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในระยะยาว เนื่องจากคู่แข่งที่สำคัญในภูมิภาคอย่างประเทศเวียดนามได้เข้าร่วมข้อตกลง CPTPP แล้ว จึงอาจทำให้ Supply Chain ของประเทศสมาชิกไหลออกจากไทยไปลงทุนในประเทศเวียดนามหรือการลงทุนใหม่ของประเทศสมาชิก CPTPP ตัดสินใจไปลงทุนที่ประเทศเวียดนามเพื่อรับสิทธิประโยชน์จาก CPTPP ก็เป็นได้

นโยบายเก็บภาษีเพิ่ม ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 21% เป็น 28% ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างมากเนื่องจากต้องจ่ายภาษีในอัตราที่เพิ่มขึ้น และภาษีบุคคลธรรมดาจาก 37% เป็น 39% โดยเน้นไปที่การขึ้นภาษีในกลุ่มคนรวยเพื่อนำไปพัฒนากลุ่มพลังงานสะอาด กลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่เพื่อสร้างการจ้างงาน

นอกจากนี้ยังมีการใช้กฎหมายเพื่อช่วยติดตามการเลี่ยงจ่ายภาษี ในกลุ่มคนรวยและบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยี นโยบายเหล่านี้ทำให้ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างในสหรัฐ ได้ประโยชน์จากการสร้างงานในธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น แต่ส่งผลเสียต่อกลุ่มคนรวยและกำไรของบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งอาจส่งผลให้เงินลงทุนไหลออกจากประเทศสหรัฐเพื่อมาลงทุนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น

นโยบายการกีดกันทางการค้าอาจเปลี่ยนรูปแบบจากการขึ้นภาษีนำเข้าเป็นสงครามการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษี หรือ NTMs เช่น เรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องการทุ่มตลาด เรื่องการอุดหนุนผู้ประกอบการจากภาครัฐ เรื่องมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน จะเห็นได้ว่าสงครามการค้ายังคงอยู่ เนื่องจากสหรัฐยังต้องการจำกัดการขยายบทบาทและอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียและในระดับโลก แต่สงครามการค้ามีการเปลี่ยนรูปแบบและผ่อนคลายลง

ในการผ่อนคลายการกีดกันทางการค้าจะส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่อุปทานเชื่อมต่อกับจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐ เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางเป็นส่วนประกอบ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ไม้และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น แต่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และสิทธิแรงงานมากขึ้น เนื่องจาก Biden ให้ควรสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากและจะนำประเด็นที่กล่าวข้างต้นมาเป็นเงื่อนไขในการเจรจาการค้าอย่างแน่นอน

การกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีส โดย Biden ได้ลงนามนำสหรัฐกลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีสในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นการยืนยันว่า Biden ต้องการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วนและจริงจัง และความต้องการผลักดันนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาดเพื่อทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล นอกจากนี้ยังเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า สหรัฐพร้อมที่จะร่วมมือกับนานาชาติในการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน โดยข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้แต่ละประเทศพยายามลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ Biden ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษอีกหลายฉบับที่เป็นการยกเลิกมาตรการต่างๆ ของ Trump ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากประเทศไทยมีการปรับตัวด้านการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง อาจทำให้ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนทั้งทางการเงินและทางเทคโนโลยีจากสหรัฐในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก แต่ในทางกลับกันการกลับเข้าร่วมข้อตกลงครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มเงื่อนไขในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ

จะเห็นว่านโยบายของ Biden มีทั้งโอกาสและผลกระทบต่อประเทศไทย ดังนั้นในช่วงเวลานี้การปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ