‘ศักดิ์สยาม’ เร่งทำการบ้าน อภิปรายปมรถไฟฟ้า-ค่าโง่

‘ศักดิ์สยาม’ เร่งทำการบ้าน  อภิปรายปมรถไฟฟ้า-ค่าโง่

อภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ติดหนึ่งในโผ 10 รัฐมนตรีที่ต้องเผชิญสังเวียนซักฟอกครั้งนี้

ซึ่งประเด็นของการอภิปรายครั้งนี้ คงต้องจับตาเกี่ยวกับ 3 ประเด็น ค่าโง่โฮปเวลล์ สัมปทานทางด่วน และการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่มีรายชื่ออยู่ใน 10 รายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยระบุว่า หากประเด็นที่จะมีการอภิปรายเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน ตนมั่นใจว่าจะสามารถอธิบายได้ และมีเอกสารยืนยันความถูกต้องชัดเจน เพราะที่ผ่านมาตนดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใสตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิบัติมาโดยตลอด แต่หากเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ตนก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร

“ผมก็ไม่รู้ว่าจะมีการอภิปรายในประเด็นอะไรบ้าง แต่ผมขอยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่มีการปล่อยปะละเลยการสั่งการต่างๆ การทำงานที่ผ่านมาสามารถตรวจสอบได้เลย และผมก็เน้นย้ำกับทุกหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมเสมอว่าต้องดำเนินการตามระเบียบกฎหมาย เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้”

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า หากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นของการต่อสัมปทานทางด่วน ระหว่าง กทพ.กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กทพ.มั่นใจว่าเรื่องดังกล่าวสามารถอธิบายและชี้แจงได้ทุกรายละเอียด เนื่องจากมีการพิจารณาไต่ตรองการต่อสัมปทานเพื่อแลกกับภาระหนี้สินที่เป็นเหตุและผลสามารถตรวจสอบได้

“เรื่องการต่อสัมปทานทางด่วน การทางฯ เราได้เตรียมข้อมูลไว้แล้ว ยืนยันว่าการดำเนินงานต่อสัญญาสัมปทานนี้ มีการกลั่นกรองตามกระบวนการ และตอนนี้ได้ลงนามสัญญาไปแล้วเมื่อ ก.พ.2563 ซึ่งเห็นแล้วว่าประชาชนได้ประโยชน์ด้วย จากการยกเว้นจัดเก็บค่าผ่านทางในวันหยุดที่กำหนดในสัญญาใหม่”

ทั้งนี้ การทำสัญญาต่อสัมปทานทางด่วนดังกล่าว เกิดขึ้นจากการพิจารณาแนวทางยุติข้อพิพาทระหว่าง กทพ. กับบีอีเอ็ม รวม 17 คดี มูลค่าข้อพิพาท 58,873 ล้านบาท เพื่อแลกกับการแก้ไขสัญญาให้บีอีเอ็มเป็นผู้รับสัมปทานบริหารและจัดเก็บค่าผ่านทางทางด่วน 3 ฉบับ เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน โดยจะไปสิ้นสุดสัญญาพร้อมกันในวันที่ 31 ต.ค.2578

โดยรายละเอียดของการขยายอายุสัมปทานทางด่วน ประกอบไปด้วย 1. ต่อสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน AB และ C เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน จากเดิมจะหมดอายุสัญญาในวันที่ 29 ก.พ.2563 ขยายออกไปหมดอายุสัญญาในวันที่ 31 ต.ค.2578 2.ต่อสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D เป็นระยะเวลา 8 ปี 6 เดือน จากเดิมหมดอายุสัญญา 22 เม.ย.2570 ขยายออกไปเป็น 31 ต.ค.2578 และ 3.ต่อสัญญาทางด่วนอุดรรัถยา ช่วงบางปะอิน – ปากเกร็ด หรือส่วน C+ เป็นระยะเวลา 9 ปี 1 เดือน จากเดิมหมดอายุสัญญา 27 ก.ย. 2569 ขยายเป็น 31 ต.ค.2578

สำหรับการทำสัญญาฉบับใหม่นี้ มีเงื่อนไขของส่วนแบ่งรายได้ โดยกำหนด กทพ.ได้รับส่วนแบ่ง 60% และบีอีเอ็มได้ส่วนแบ่ง 40% นอกจากนี้ภายใต้สัญญาใหม่บีอีเอ็มยังมีสิทธิในการเจรจาต่อสัญญาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี แต่รัฐฯ ก็มีสิทธิในการพิจารณาไม่ต่อสัญญาก็ได้ อีกทั้ง กทพ.ยังกำหนดให้บีอีเอ็มต้องยกเว้นจัดเก็บค่าผ่านทางในวันหยุดตามประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยว่า ขณะนี้กระทรวงฯ ยังไม่ได้มีการจ่ายค่าเงินชดเชยให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ในจำนวน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไปเมื่อ เม.ย.2562 เนื่องจากกระทรวงฯ ได้แจ้งไปยังสำนักงานบังคับคดี ถึงแนวทางในการต่อสู้คดี ส่งผลให้กระบวนการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวถูกระงับไว้ชั่วคราว

สำหรับแนวทางต่อสู้คดีนั้น กระทรวงฯ ได้พิจารณาพบว่ามติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พ.ย2545 ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบและไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา มตินั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถใช้บังคับได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 5 มาตรา 6 และ มาตรา 44

นอกจากนี้ มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวยังกำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “ศาลปกครองเปิดทำการ” คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 2544 ซึ่งผิดไปจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่าให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี”

ดังนั้น จึงเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 188 และมาตรา 197 อันเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ไม่อาจใช้บังคับได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิดังกล่าวสามารถใช้สิทธิทางศาลรัฐธรรมนูญได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม

“ตอนนี้เรื่องโฮปเวลล์ถือว่ากระบวนการอยู่ในขั้นตอนศาล เรายังไม่ต้องจ่ายชดเชยอะไร เพราะยังมีทางต่อสู้คดี หลังจากที่เราเห็นว่าคำตัดสินของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ส่งเรื่องนี้ไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินก็เห็นด้วยกับข้อเสนอและขณะนี้ได้ยื่นเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลได้รับไว้พิจารณา”

แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า หากเรื่องโฮปเวลล์มีการหยิบยกมาพูดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กระทรวงฯ เชื่อว่าจะสามารถชี้แจงได้ทุกรายละเอียด เนื่องจากการทำงานที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้พยายามหาทุกแนวทางที่จะต่อสู้คดี แม้ว่าเรื่องโฮปเวลล์จะเป็นประเด็นที่มีการกระทำมาเมื่อหลายปีก่อน แต่เมื่อกระบวนการศาลได้มีการตัดสินในขณะนี้แล้ว กระทรวงฯ ก็จะพยายามศึกษาทุกแนวทางที่สามารถทำได้ และสามารถชี้แจงได้

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยว่า กรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว กระทรวงฯ ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังกรุงเทพมหานคร (กทม.) ใน 4 คำถาม เกี่ยวกับการดำเนินการตามกรอบ ม.44 การคำนวณราคาค่าโดยสาร การใช้ทรัพย์สินของรัฐ และข้อพิพาททางกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องของการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ กทม.ออกมาระบุว่าหากมีการต่อสัมปทานให้เอกชน จะจัดเก็บค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท ซึ่งกระทรวงฯ ต้องการสอบถามถึงรายละเอียดการคำนวณราคาดังกล่าว เพื่อกระทรวงฯ จะนำไปประกอบรายงานเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)

“กระทรวงฯ เราก็มีหน้าที่แสดงความเห็นกับราคาโดยสารรถไฟฟ้า เพราะถือเป็นกระทรวงฯ ที่ต้องควบคุมระบบขนส่งมวลชน จึงได้ทำการสอบถามข้อมูลจาก กทม.เพราะเชื่อว่าเรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างละเอียด รอบคอบ และยังมีเวลา เนื่องจากสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2572 และยังมีสัญญาเดินรถถึงปี 2585 ดังนั้นไม่กระทบต่อการใช้บริการประชาชน”

อย่างไรก็ตาม หลังจากกระทรวงคมนาคมได้ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย และ กทม. ตั้งแต่ ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลการศึกษาของโครงการ แนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ต้นทุนของโครงการ และเอกสารอื่นๆ เพื่อนำมาศึกษา และให้ความเห็นต่อ ครม.เพราะมองว่ามีแนวทางที่จะสามารถลดค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท เหลือไม่เกินอัตราแนวทางที่ระบบรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ในสังกัดกระทรวงคมนาคมกำหนดได้

โดยล่าสุด กทม. ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม แต่กลับส่งข้อมูลเพิ่มเติมมาให้เพียง 2 ประเด็น ได้แก่ 1.สรุปผลการเจรจาต่อรองกับผู้รับสัมปทาน และ 2.ร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไข ส่วนประเด็นอื่นๆ โดยเฉพาะต้นทุนของโครงการ และที่มาของอัตราค่าโดยสาร ไม่ได้มีการชี้แจงรายละเอียดมาให้กระทรวงคมนาคมแต่อย่างใด

“ตอนนี้เราคงไม่มีข้อเสนออะไรกับสิ่งที่ กทม.ได้ชี้แจง เพราะไม่สามารถเอาข้อมูลไปใช้ทำอะไรต่อได้ แต่หากไม่มีข้อมูลมากกว่านี้ แต่กระทรวงฯ พร้อมจะชี้แจงรายละเอียด เพราะกระทรวงฯ ทำตามหน้าที่ที่ต้องสอบถามรายละเอียด เพื่อประโยชน์ของผู้โดยสารเท่านั้น”

อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ ได้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่กำกับดูแลรถไฟฟ้า ทั้งหน่วยงานทางกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ก็พบว่าข้อมูลการคำนวณค่าโดยสาร เป็นการใช้ฐานการคำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI (Consumer Price Index) และเมื่อลองนำสูตรคำนวณดังกล่าวมาคำนวณราคาค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวรวมกับส่วนต่อขยายแล้ว ยืนยันว่าประชาชนจะจ่ายค่าโดยสารสูงสุด ต่ำกว่า 65 บาท ซึ่งสามารถลดลงได้อีกราว 20%