ล่มไม่เป็นท่า "ร่างพ.ร.บ.ตำรวจ" ยังไม่ทันโหวต ส.ส.ฝ่ายค้าน โวย-ขอนับองค์ประชุม

ล่มไม่เป็นท่า "ร่างพ.ร.บ.ตำรวจ" ยังไม่ทันโหวต ส.ส.ฝ่ายค้าน โวย-ขอนับองค์ประชุม

การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นกฎหมายปฏิรูปสำคัญของรัฐบาล ยังไม่ทันโหวตรับหลักการ ต้องปิดหนี การนับองค์ประชุม หลังส.ส.ฝ่ายค้านโวย ไร้เงาส.ส.ร่วมรัฐบาลนั่งฟังการอภิปราย

    เมื่อเวลา 18.00 น. ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ... ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยหลักการเพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 เพื่อให้การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจ และการพิจารณาบำเหน็จความชอบ มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นำเสนอหลักการ

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการพิจารณาของรัฐสภานั้น ได้ตั้งข้อสังเกตต่อประเด็นข้อกำหนดโดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้าย ที่เนื้อหาเปิดโอกาสให้มีการคัดเลือก ซึ่งอาจเปิดช่องให้ญาติ และครอบครัวของตำรวจระดับสูงถูกแต่งตั้งเข้ารับตำแหน่ง โดยไม่ผ่านการสอบคัดเลือก อีกทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่ยึดหลักอาวุโสแต่กลับพบข้อยกเว้น อาจทำให้กระบวนการแต่งตั้งโดยคำนึงถึงระบบอาวุโสถูกยกเว้นได้ในที่สุด
    ทั้งนี้ในการอภิปรายได้เสนอแนะให้ กรรมาธิการที่รัฐสภาตั้งขึ้น เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางด้วย อย่างไรก็ดีการอภิปรายดำเนินมาถึงเวลา 21.00 น. มีการประท้วงจากส.ส.พรรคฝ่ายค้าน โดยนายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอให้นับองค์ประชุม หลังจากที่มีการเสนอให้เลื่อนการอภิปรายไปสัปดาห์หน้า เนื่องจากส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ไม่อยู่ในห้องประชุม 
    ทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ฐานะประธานที่ประชุม พยายามร้องขอให้รอการวินิจฉัยจากนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่อีก 30 นาทีจะทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม แต่ผู้เสนอให้นับองค์ประชุมขอให้นายพรเพชรตัดสินใจ ในฐานะประธานการประชุม ทั้งนี้มีความพยายามช่วยเหลือจากส.ส.พรรคพลังประชารัฐ โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประะธานวิปรัฐบาล ขอให้การอภิปรายดำเนินต่อไป เพราะมีผู้รอลำดับอภิปรายอีก 10 คน แต่ไม่เป็นผลซึ่งนายณัฐวุฒิยืนยันให้นับองค์ประชุม แม้ว่าจะมีลำดับการอภิปรายก็ตาม โดยให้เหตุผลว่าต้องการอภิปราย แต่ไม่มีใครนั่งฟัง ทั้งนี้พรรคฝ่ายค้านทำหน้าที่เต็มที่แต่เมื่อหันไปฝั่งของส.ส.รัฐบาลพบแต่ความว่างเปล่า
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อการเจรจาในที่ประชุมไม่เป็นผล ทำให้นายพรเพชร กล่าวกับที่ประชุม โดยขอปิดประชุม และะเลื่อนวาระพิจารณาไปในครั้งต่อไป ทำให้การอภิปรายที่ใช้เวลามา 3ชั่วโมง 30 นาที ต้องยุติลงเมื่อเวลา 21.49 น.  โดยยังไม่มีการลงมติเพื่อตัดสินใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นร่างกฎหมายปฏิรูปฉบับแรกที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว.