'ทีดีอาร์ไอ' แนะรัฐแจกเดือนละ 5,000 บาท เยียวยาโควิดรอบใหม่

ทีดีอาร์ไอ ชี้มาตรการเยียวยาโควิดรอบใหม่ต้องทำ 2 กลุ่ม คือ ให้เงินเปล่าช่วยเหลือครอบคลุมทุกคน และมาตรการช่วยเหลือแบ่งเป็นเซ็คเตอร์ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่เจ็บหนักไม่ฟื้น แนะรัฐลงขันตั้งกองทุนซื้อกิจการมาเก็บไว้ก่อน หากสถานการณ์คลี่คลายค่อยให้ขายคืน

นายนณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า มาตรการที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการออกมาเยียวยาการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แต่ มาตรการที่ต้องให้สำหรับทุกคน เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งนี้รุนแรงและขยายเป็นวงกว้าง ดังนั้น จึงต้องมีการเยียวยาด้วยการจ่ายเงินทางตรง เพราะคนได้รับผลกระทบจะได้รับความช่วยเหลือที่รวดเร็ว ซึ่งเงินให้เปล่าอาจให้ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ เด็กยากจน เพราะรัฐมีกรอบข้อมูลในการดูแลอยู่แล้ว

กลุ่มที่สอง จะเป็นมาตรการที่ต้องดูแลเฉพาะจุด ผลกระทบของโควิดที่แต่ละส่วนได้รับไม่เท่ากัน เพราะรัฐบาลล็อกดาวน์หรือปิดพื้นที่ไม่เท่ากัน บางพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักกว่าบางพื้นที่ ดังนั้นให้รัฐเลือกกระตุ้น เพราะแม้รัฐบาลจะมีมาตรการคนละครึ่ง แต่บางพื้นที่ถูกล็อกดาวน์ก็ไม่สามารถใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ อีกทั้งหากดูในมิติเซ็คเตอร์ที่ได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในเซ็คเตอร์ของท่องเที่ยวไม่เห็นสัญญาณกลับมาทั้งปี อาจต้องได้รับยาที่แรงกว่ากลุ่มอื่นๆ

160992501623

“สิ่งที่ห่วงสุดคือ ช่วงที่เกิดวิกฤติรายเล็กจะไปไม่รอด ดังนั้นรัฐอาจต้องหากองทุนมาช่วย ต้องเข้าใจว่าธนาคารพาณิชย์มีหน้าที่หลักคือทำกำไร ดังนั้นภาครัฐต้องใช้ช่องทางตัวเอง คือธนาคารภาครัฐเป็นหัวจักรในการปล่อยกู้ ถ้าภาครัฐช่วยจริงควรลงขันภาคเอกชนรายใหญ่ช่วยซื้อโรงแรมเก็บไว้ก่อน และถ้าสถานการณ์ดีขึ้นให้เจ้าของซื้อคืน เพื่อไม่ให้ธุรกิจล้มหายตายจากไป” นายนณริฎ กล่าว

สำหรับเงินที่จะนำมาเยียวยา ภาครัฐมีเงินพอ หากดูจาก พรก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท โดยเงิน 6 แสนล้านบาท ซื้อวัคซีน ยังมีเงินเยียวยาเหลืออีก 3 แสนล้านบาท ส่วนที่เป็นงบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท มีการใช้ไปแค่ 1 แสนล้านบาท เหลือครึ่งหนึ่งที่ภาครัฐจะใช้ได้ และยังมีงบปี 2564 สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน น่าจะพอแน่นอน ดังนั้นการเยียวยารอบใหม่ด้วยเงินให้เปล่า ยังคงสามารถให้ได้เดือนละ 5,000 บาท ซึ่งน่าจะเพียงพอ และมองว่าผู้ที่ติดโควิด-19 แล้ว ก็ควรได้รับเงินเยียวยาเท่าค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อครอบครัว