จับตา 6 เทรนด์ผู้บริโภค รับมือปี 2564

จับตา 6 เทรนด์ผู้บริโภค รับมือปี 2564

ส่อง 6 เทรนด์ผู้บริโภคที่หลายธุรกิจต้องเตรียมพร้อมต้อนรับปี 2564 หลังจากปีนี้ต้องเผชิญบทพิสูจน์หลายมิติ โดยเฉพาะวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก รวมถึงเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

ในขณะที่เรากำลังเตรียมพร้อมต้อนรับปี 2564 ที่จะมาถึงนี้ ก่อนอื่นคงต้องบอกว่าปี 2563 เป็นปีที่เป็นบทพิสูจน์ของหลายธุรกิจในหลายมิติ ทั้งในมิติการประกอบการ มิติความเชี่ยวชาญในธุรกิจ และมิติการรับมือวิกฤติด้านการตลาด ตอบรับการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่เคยคาดการณ์มาก่อน ทำให้ธุรกิจการตลาดมีการปรับกระบวนการกลยุทธ์แบบรายวันไปพร้อมๆ กับการเข้าถึงเหตุการณ์ปัจจุบันและข้อมูลใหม่ๆ ที่รวดเร็วมากขึ้น

ในปี 2564 นี้ กระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกประกอบกับการรับมือกับโควิด-19 จะเป็นแรงผลักดันหลักของเทรนด์ใหม่ๆ ที่จะมาตอบโจทย์วิกฤติจิตใจของผู้บริโภค ผันรูปแบบความคิดจากการกำหนดเองเป็นการปล่อยวาง และการก่อตัวของสำนึกความเป็นคนและพลเมืองของโลกใบเดียวกัน

1.บ้านคือศูนย์กลางของชีวิต (Home as Headquarter)

ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน ยิ่งในช่วงโควิด-19แล้วบ้านได้กลายเป็นศูนย์กลางของชีวิตในหลายมิติ ในขณะที่ทั่วโลกกำลังปรับตัวกับการทำงานที่บ้านแบบ Remote Work หรือผสมผสานทั้งที่บ้านและที่ออฟฟิศแบบ Hybrid เราจะได้เห็นธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ๆที่ปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ให้การใช้ชีวิตที่บ้านมีสีสัน ทั้งในด้านการอยู่เป็นเพื่อน มีสังคม ให้ความบันเทิง ไปพร้อมๆกับความสะดวกสบาย มีประสิทธิภาพ และเปิดโอกาสในการพัฒนาตัวเอง

2.เทคโนโลยีเพื่อวิถี Next Normal (Tech for The Next Normal)

ในขณะที่เทคโนโลยีที่มาแรงอย่าง 5G, Artifical Intelligence (AI) และ Extended Reality (XR) ก็กำลังก่อตัวอย่างไม่หยุดยั้ง เทคโนโลยีที่จะมาแรงไม่แพ้กันคือเทคโนโลยีที่มาตอบรับการใช้ชีวิตแบบ ‘Next’ Normal ช่วยให้ผู้บริโภคปรับตัวกับวิถีใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้น ที่เห็นการปรับตัวได้ชัดในธุรกิจสุขภาพ การเงิน และรีเทล ประกอบไปกับการใช้ชีวิตแบบเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลาแบบ Cloud-Based และตอบสนองความต้องการแบบผู้บริโภคกำหนดเองแบบ On-Demand

3.ปีแห่งความความจริงไม่มีดราม่า (The Truth Seeker)

เรียกได้ว่าปี 2563 นี้ผู้บริโภครู้สึกเพลียไปกับข่าวสารและสถานการณ์ที่ประดังเข้ามาทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจ ภัยพิบัติธรรมชาติ และสงครามโรค เป็นต้น ผู้บริโภคปี 2564 จึงมีความปรารถนาในข้อมูลและคอนเทนท์แบบ “งดดราม่า” นั่นคือเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง พิสูจน์ได้ว่าจริง ไม่มีทัศนคติ ไม่มีเอนเอียง ในขณะเดียวกันในแง่การสื่อสารการตลาดเราจะได้เห็นสไตล์ที่มีความจริงใจ เรียบง่าย ไม่ปรุงแต่ง และเข้าถึงได้มากขึ้น

4.เข็มทิศเติมพลังบวกชีวิต (GPS for The Soul)

ในหลายๆประเทศทั่วโลก ผู้บริโภคใช้ชีวิตด้วยความกลัว ความโดดเดี่ยว และ ความไม่แน่นอน เป็นปัจจัยทำให้ผู้บริโภคปี 2564 ต้องการความรับรู้ในปัญหาที่ตนเองต้องเผชิญและความเข้าใจในสภาวะปัจจุบันจากธุรกิจและแบรนด์ ในบทบาทที่ไม่เพียงแต่แก้วิกฤติในระยะสั้นแต่บทบาทที่จะประคับประคองผู้บริโภคและเป็นความหวังและสร้างมุมมองเชิงบวกพร้อมสู้ทุกปัญหาให้ผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้

5.การกลับมาของการตลาดแบบวินเทจ (A Dash of Nostalgia)

ผู้บริโภคในช่วงข้อต่อยุคแห่งความวิกฤติของโลกมักมองหา ความอิสระจากชีวิตปัจจุบัน หันไปหาที่พึ่งทางใจจากความรู้สึกสบายใจและปลอดภัย ความคลาสสิคและความวินเทจจากยุคเก่า ในแง่ของเทรนด์เราจะได้เห็นกระแสการกลับมาของสินค้าที่เลิกผลิตไปแล้ว หรือ แม้แต่การกลับมาของรสชาติที่คุ้นเคย ประกอบไปกับคอนเทนท์เทรนด์ที่พาผู้บริโภคหนีจากปัจจุบันที่รุมเร้าไปด้วยปัญหา ย้อนเวลาไปสู่ความเรียบง่ายและความสุขในวันวาน หรือ วิถีเดิม

6.ให้ความแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดา (In Pursuit of A Fair, Equal & Just World)

กระแสที่มาแรงในปี 2564 คงหนีไม่พ้นเรื่องของความเท่าเทียมกัน ที่เป็นกระแสที่คนยุคใหม่ให้ความสนใจและทำให้เกิดการก่อตัวขึ้นของการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง จากกระแสการเรียกร้องการล่วงละเมิดทางเพศของผู้หญิง #MeToo ในปี 2560 และ การประท้วงที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์เรื่องผิวสีอย่าง Black Lives Matter และ George Floyd ในปี 2563 ทำให้ผู้บริโภคตระหนักมากยิ่งขึ้นถึงความสำคัญของความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษยชาติ หลายๆแบรนด์หันมาเป็นกระบอกเสียงเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมโดยเป็นพลังให้กับกลุ่มผู้คนที่มักถูกมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ด้านเพศ ด้านเพศสภาพ หรือ ด้านสถานะทางสังคมก็ตาม เพื่อให้ความแตกต่างเป็นที่ยอมรับและกลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมมากขึ้น

มุมมองบวกและความหวังถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะข้ามผ่านวิกฤติของสถานการณ์โลกปัจจุบัน ในขณะที่ผู้บริโภคกำลังจับตามองการยุติของโควิด-19 ธุรกิจและแบรนด์จะต้องพลิกผันบทบาทและมาตรการในการช่วยผู้บริโภคให้กลับมาใช้ชีวิตหรือสร้างวิถีปกติใหม่แบบ “Next Normal” ที่มีหัวใจหลักคือการทำการตลาดแบบมี ‘Compassion’ เข้าใจผลกระทบของวิกฤติในใจของผู้บริโภค มีจุดยืนผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่ดีในคอมมิวนิตี้และสังคม และมีความหมายกับชีวิตผู้บริโภคอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงหวังผลประกอบการณ์เป็นโจทย์หลักเพียงอย่างเดียว