วางแผนภาษี 'ลดหย่อนภาษี' ช่วงโค้งสุดท้ายกันเถอะ

วางแผนภาษี 'ลดหย่อนภาษี' ช่วงโค้งสุดท้ายกันเถอะ

วางแผนลงทุนระยะยาวอย่างไรให้ได้สิทธิ "ลดหย่อนภาษี" เมื่อกองทุน LTF ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้แล้ว กองทุน SSF หรือ RMF น่าลงทุนหรือไม่? และมีเกณฑ์ในการพิจารณาในการเลือกลงทุนอย่างไรบ้าง?

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกๆ ท่าน ปี 2020 กำลังจะผ่านพ้นไป ปีนี้มีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดีหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่สะเทือนโลกอย่างโควิด หรือการเลือกตั้งในอเมริกา รวมถึงความผันผวนที่มีต่อตลาดเงินตลาดทุน หรืออัตราแลกเปลี่ยน

ผมมองเห็นหลายๆ หลักทรัพย์ที่มีผลตอบแทนเป็นบวก และอีกหลายสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนติดลบ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางท่องเที่ยว และเรายังได้เห็นการเกิดขึ้นของหุ้นหรือกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นที่เราอาจไม่เคยสนใจหรือไม่เคยรู้มาก่อน เช่น หุ้นบริษัทประชุมทางไกลอย่างซูม เป็นต้น

เช่นทุกๆ ปีที่ผ่านมา ใกล้สิ้นปีหลายคนคงมองหากองทุนที่ลงทุนและได้รับสิทธิลดหย่อนทางภาษี หลายท่านคงทราบแล้วว่ากองทุน LTF นั้นไม่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกแล้ว แต่มีกองทุนประเภทใหม่มาให้เราได้เลือกคือ กองทุน SSF แต่กองทุน RMF นั้นนักลงทุนยังคงลงทุนและใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามปกติ วันนี้ผมเลยอยากเขียนเรื่องของการเลือกลงทุนในกองทุน SSF และ RMF พร้อมมุมมองที่ผมคิดว่าจะช่วยในการวางแผนลงทุนระยะยาวที่ดีให้กับนักลงทุนควบคู่ไปกับการได้สิทธิในการลดหย่อนภาษี

เริ่มจากกองทุน SSF ที่ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 2 แสนบาท (รวมกับ RMF, PVD, กบข. และประกันบำนาญ ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท) ลดหย่อนสูงสุด 30% ของเงินได้ มีทั้งกองทุนจ่ายปันผลและไม่จ่ายปันผล ระยะเวลาลงทุน 10 ปีนับจากวันซื้อ ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี เหมาะกับผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษีและลงทุนระยะยาว

ส่วนกองทุน RMF ลดหย่อนได้ไม่เกิน 5 แสนบาท (รวมกับ SSF, PVD, กบข. และประกันบำนาญ ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท) มีเฉพาะกองทุนที่ไม่จ่ายปันผล ระยะเวลาลงทุนต้องซื้อต่อเนื่อง 5 ปีติดต่อกันขึ้นไป และขายได้เมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์ เหมาะกับผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษีและลงทุนเพื่อเกษียณอายุ

ต่อไปผมจะพูดถึงปัจจัยที่นักลงทุนควรใช้ในการพิจารณาเพื่อเลือกลงทุนในกองทุนเหล่านี้ ปัจจัยแรกคือวัตถุประสงค์ในการลงทุนว่าเราต้องการลงทุนในกองทุนเหล่านี้เพื่ออะไร เช่น เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนเกษียณ หรือคนที่เกษียณแล้วอาจจะใช้เพื่อลดหย่อนภาษี ลักษณะนี้กองทุนที่เลือกควรเป็น RMF ประเภทตราสารหนี้ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำและสามารถขายคืนได้หลังจาก 5 ปี

ส่วนคนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อวางแผนเกษียณนั้นควรพิจารณาปัจจัยที่สองเพิ่มเติม คือ เรื่องของความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง โดยส่วนใหญ่มักจะแบ่งเป็น 5 ระดับ ถ้าเรารู้ว่าเรารับความเสี่ยงได้น้อย ก็ควรจะเลือกลงทุนส่วนใหญ่ ในกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ และแบ่งอีกส่วนซึ่งอาจจะไม่เกิน 10% ลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อเพิ่มผลตอบแทน

ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มาก สัดส่วนการลงทุนในกองทุนเสี่ยงสูงก็จะมากขึ้น เช่น มากกว่า 70% และแบ่งส่วนที่เหลือลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแม้ในปีนี้ผลตอบแทนจะติดลบจากผลกระทบของโควิด แต่ในระยะยาวสินทรัพย์ประเภทนี้จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้

ปัจจัยที่สาม เลือก บลจ. ที่ออกกองทุน เนื่องจากการลงทุนในกองทุน SSF/RMF นั้นเป็นการลงทุนระยะยาวเราควรพิจารณาเลือกลงทุนกับบลจ.ที่มีกองทุนหลากหลายประเภท เช่น ควรมีทั้งตราสารหนี้ในประเทศ ต่างประเทศ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ เป็นต้น อย่างที่เขียนไว้ในตอนต้นว่า กองทุนที่มีวัตถุประสงค์การลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ธุรกิจใหม่ๆ เช่น Online Shopping และ AI ก็เป็นอีกประเภทหนึ่งที่เราควรพิจารณาว่า บลจ.นั้นๆ มีขายอยู่ด้วยหรือไม่

นอกจากดูความหลากหลายของประเภทกองทุนแล้ว ปัจจัยต่อมาที่สำคัญในการพิจารณาคือ ผลการดำเนินงานของกองทุนต้องโดดเด่นหรือดีกว่าคู่แข่งโดยเฉลี่ย แต่ละ บลจ.มีกองทุนที่ผลการดำเนินงานอาจดีบ้างไม่ดีบ้างเราควรเลือก บลจ.ที่มีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของทุกๆ ประเภท (เฉพาะ SSF/RMF) ที่ดีกว่าค่าเฉลี่ย

สองปัจจัยสุดท้ายมีความสำคัญ เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มักนิยมลงทุนในบลจ.เดิมๆ และหากในอนาคตเราต้องการปรับสัดส่วนของสินทรัพย์ที่เราลงทุนเพื่อตอบรับกับทิศทางตลาดที่เปลี่ยนไป หรือเมื่อความสามารถในการรับความเสี่ยงของเราเปลี่ยนไป การสับเปลี่ยนกองทุนภายใน บลจ. เดียวกันมักจะทำได้ง่ายและมีต้นทุนต่ำกว่าการสับเปลี่ยนระหว่าง บลจ.

ผมหวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านในการเลือกกองทุน SSF/RMF ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี และท้ายสุดนี้ผมก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านมีความสุขและโชคดีในการลงทุนครับ