FDI สู่ไทย : ส่วนใหญ่ยังรักษาระดับการลงทุน แม้ได้รับผลกระทบ 'โควิด-19'

FDI สู่ไทย : ส่วนใหญ่ยังรักษาระดับการลงทุน แม้ได้รับผลกระทบ 'โควิด-19'

มองภาพ "การลงทุนไทย" ผ่านสายตานักลงทุนต่างชาติ ไทยยังดึงดูดให้เข้ามาลงทุนอยู่หรือไม่? ที่ผ่านมาประเทศใด คือนักลงทุนเบอร์ 1 ของไทย และมีความเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน? และในปี 2563 วิกฤติโควิด-19 กระทบต่อการลงทุนในไทยหรือไม่?

จากการเข้าร่วมสัมมนา เรื่อง “ลงทุนไทย 2563 : มุมมองอนาคตลงทุนไทยในสายตาต่างชาติ” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และบริษัทโบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.63 สรุปได้ว่า นักลงทุนต่างชาติยังเชื่อมั่นประเทศไทย แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยบริษัทผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 600 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่มีสัญชาติญี่ปุ่นและดำเนินธุรกิจในไทยไม่น้อยกว่า 10 ปี มีแผนรักษาระดับการลงทุนในไทย

ประเทศใดคือนักลงทุนเบอร์ 1 ของไทย ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2553-2562) ญี่ปุ่น จีน อาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐ เป็นผู้ลงทุนในไทยมากที่สุด โดยมีสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) รวม 66.5% ของ FDI ทั้งหมดในปี 2562 แม้เม็ดเงินลงทุนไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบางช่วงเวลา FDI ก็เพิ่มขึ้น บางช่วงเวลา FDI ก็ลดลง

แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ญี่ปุ่นซึ่งเป็นเคยประเทศผู้ลงทุนในไทยอันดับ 1 มาตลอดเริ่มมีสัดส่วนการลงทุนลดลงโดยหล่นมาอยู่อันดับ 2 ในปี 2562 ขณะที่อาเซียนยังคงรักษาระดับการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องจาก 17.4% ในปี 2553 ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 โดยมีสัดส่วนลงทุน 19.9% ในปี 2562 ส่วนจีนขยับการลงทุนในไทยมากขึ้นชัดเจนจากสัดส่วน  2.8% ในปี 2553 ก้าวสู่อันดับ 2 ในปี 2561 ก่อนมาอันดับ 3 ที่สัดส่วน 14.4% ในปี 2562

สาขาใดรับ FDI สูงที่สุด  ได้แก่ สาขาการผลิตโดยมีสัดส่วน 39.7% ของ FDI สุทธิในช่วง 10 ปี ตามด้วยสาขาการเงินและประกันภัย สัดส่วน 26.1%, กิจการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ สัดส่วน 17.1%, การขายส่งและการขายปลีก สัดส่วน 7.6% โดยญี่ปุ่นเน้นลงทุนด้านการผลิตคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ยานยนต์ เครื่องจักรเครื่องมือ และอุปกรณ์ไฟฟ้า ส่วนจีนลงทุนในไทยเพื่อใช้ทรัพยากรในไทยเป็นวัตถุดิบ เช่น อุตสาหกรรมยางพารา และยังลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทรับเหมาก่อสร้างจีน รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสมาร์ทเทคโนโลยีต่างๆ

ปัจจัยใดดึงดูดการลงทุนในไทย จากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในไทย พบว่า นักลงทุน 19.3% ของบริษัทกลุ่มตัวอย่าง 600 บริษัท มีแผนขยายการลงทุนในไทย ขณะที่ 76.7% จะรักษาระดับการลงทุนในไทยต่อไป โดยมีปัจจัยสนับสนุน 3 ประการ คือ การได้รับสิทธิประโยชน์การลงทุน การมีวัตถุดิบชิ้นส่วนที่เพียงพอ และการมีความพร้อมของอุตสาหกรรมสนับสนุน

ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า  92.5% ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติเกือบ  4.0% มีแผนลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม 10 บริษัท, อินโดนีเซีย 2 บริษัท, ฟิลิปปินส์ 2 บริษัท และเมียนมา 1 บริษัท รองลงมาคือ ประเทศนอกอาเซียน 8 บริษัท ได้แก่ อินเดีย 5 บริษัท, จีน 2 บริษัท และอียู 1 บริษัท

ปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการลงทุนในไทยปี 2564 ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ขณะที่คาดว่าปัจจัยฉุดรั้งการลงทุนปี 2564 ได้แก่ ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ความโดดเด่นของประเทศเพื่อนบ้านที่มากขึ้น และความไม่แน่นอนทางการเมือง

ประเทศใดในอาเซียนที่บริษัทญี่ปุ่นให้ความสนใจสูงสุด สำหรับการเป็น China Plus One เมื่อเร็วๆ นี้สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่ามี 87 บริษัทญี่ปุ่นประสงค์ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ซึ่งพบว่า 57 บริษัทจะย้ายการดำเนินการกลับไปญี่ปุ่น โดยใช้วัสดุท้องถิ่นทั้งหมด ในขณะที่อีก 30 บริษัทจะย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียน โดยจะย้ายมาเวียดนาม 15 บริษัท, ไทย 6 บริษัท, มาเลเซีย 4 บริษัท, ฟิลิปปินส์ 3 บริษัท, ลาว 2 บริษัท , เมียนมา 1 บริษัทและอินโดนีเซีย 1 บริษัท

ความน่าสนใจของเวียดนามในฐานะแหล่งดึงดูดการลงทุนอยู่ตรงไหน สำนักวิจัยประเมินว่า ก่อนหน้านี้ กระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสู่เวียดนามก็มีแนวโน้มเติบโตอยู่แล้ว ดังเห็นได้จาก การเข้ามาของบรรษัทข้ามชาติ เช่น LG จากเกาหลีใต้, FoxConn ผู้ผลิตส่วนประกอบให้ Apple จากไต้หวัน, Panasonic จากญี่ปุ่น, บริษัท Apple จากสหรัฐฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ เวียดนามมีอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าจีน อีกทั้งมีข้อได้เปรียบอื่นๆ อีก เช่น ประชากรอยู่ในวัยหนุ่มสาวสะท้อนกำลังแรงงานและกำลังซื้อ นโยบายเศรษฐกิจที่สนับสนุนการลงทุนต่างชาติแบบ 100% การมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เช่น การเข้าร่วมกลุ่ม CPTPP การทำ FTA กับอียู การได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ตลอดจนเศรษฐกิจที่ยังเติบโตได้ดีแม้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

กล่าวโดยสรุป นักลงทุนต่างชาติยังเชื่อมั่นการลงทุนในไทยและให้ความสำคัญกับบรรยากาศการลงทุน เช่น การปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพ การยกเลิกใบอนุญาตหรือกระบวนการต่างๆ ที่ไม่จำเป็น การปรับปรุงระบบภาษีศุลกากรให้มีขั้นตอนที่ง่ายและสะดวกมากขึ้น ตลอดจนมีแนวทางรับมือโควิด-19 ที่ชัดเจน

ที่ผ่านมา การลงทุนในไทยอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน ท่ามกลางต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับต่ำ สิทธิประโยชน์ทางภาษี เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องก็น่าจะส่งผลให้การนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศถูกลง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนของไทยได้มากพอ

บทบาทของ FDI ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยนับจากนี้จึงเป็นสิ่งท้าทาย เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติมีการกระจายความเสี่ยงไปลงทุนประเทศอื่นมากขึ้น เช่น ญี่ปุ่นชู Thailand plus One โดยกระจายการลงทุนไปกลุ่ม CLMV มากขึ้น ข้อจำกัดด้านแรงงาน ประกอบกับโครงสร้างประชากรก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ซึ่งจะมีผลทำให้จำนวนแรงงานและการบริโภคในประเทศลดลง และทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตจากภายในได้ค่อนข้างยาก และการพัฒนานวัตกรรมและคุณภาพของแรงงานเป็นสิ่งที่ต้องจับตาในจังหวะของการก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0