'พลังงาน' เมินเอกชนฟ้องดึงโควตาปั้นโรงไฟฟ้าขยายผล

'พลังงาน' เมินเอกชนฟ้องดึงโควตาปั้นโรงไฟฟ้าขยายผล

“พลังงาน” ชง “สุพัฒนพงษ์” ต้นปี64 เคาะแผนซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เมินเอกชนจ่อฟ้องลิดรอนโควตาเอสพีพีไฮบริดฯ 100 เมกะวัตต์ ปั้นโรงไฟฟ้าขยายผล หั่นค่าไฟ

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ขณะนี้ กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างจัดทำพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า หรือ Load forecast ใหม่ เพื่อให้เห็นถึงผลกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมาลดลง โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวราว 10%

ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ได้ประเมินอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP)ทั้งปี 2563 จะหดตัวราว -6% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวสูงถึง -7.8 ถึง -7.3% ดังนั้น สนพ.ก็ต้องนำตัวเลขคาดการณ์ GDP ดังกล่าวมาประกอบการพิจารณา Load forecast ใหม่ ซึ่งหากได้ตัวเลขคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ที่ชัดเจนแล้ว ก็จะนำเสนอ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณาแผนเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในปี 2564 อีกครั้ง ซึ่งเดิมคาดว่าจะรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบกว่า 1,000 เมกะวัตต์

“ยังไม่มั่นใจว่าปีหน้า จะรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้กี่เมกะวัตต์ แต่ตามแผน AEDP 2018 ก็ระบุประเภทเชื้อเพลิงไว้แล้ว มีลม,โซลาร์,ขยะ,ชีวมวลประชารัฐ และโรงไฟฟ้าขยายผล ก็ยังมีอยู่แต่จะเหลือกี่เมกะวัตต์ ก็ต้องรอจัดทำ Load forecast ใหม่ที่จะเสร็จสิ้นปีนี้ก่อน ขณะที่โรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์นำร่อง ก็ยังเป็นไปตามนั้น”

160751206577

ส่วนกรณีที่ภาคเอกชน เตรียมฟ้องร้องภาครัฐ หากตัดสิทธิ์ผู้ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560 ที่เลยกำหนดเวลาลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปตั้งแต่ 13 ธ.ค.2562 เพื่อนำโควตาผลิตไฟฟ้าประมาณ 100 เมกะวัตต์ มาจัดทำโครงการโรงไฟฟ้าขยายผล แทนนั้น

ทางกระทรวงพลังงาน ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และยืนยันว่า โครงการนี้มีเจตนาดี เพราะไม่ต้องการให้โควตาผลิตไฟฟ้าในส่วนนี้ถูกตัดทิ้งไป แต่ควรนำมาส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะกับผู้ที่มีความพร้อมจะเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ประเภทเร่งด่วน หรือ Quick Win เดิม ที่มีความพร้อมผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว ให้มาประมูลแข่งขันผลิตไฟฟ้าภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าขยายผล ที่กำหนดเพดานเสนอขายไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 2.44 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ประเทศได้ประโยชน์จากความมั่นคงระบบไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นภายใต้ต้นทนค่าไฟที่ต่ำลง

“เรายังไม่รู้ว่าเขาจะฟ้องทำไม ฟ้องประเด็นไหน เพราะถ้าเขาไม่สามารถเซ็น PPA หรือ COD ได้ตามกำหนด เขาก็ผิดเงื่อนไขกับรัฐ ฟ้องไปก็คงไม่เกิดผล”

160751209019

รายงานข่าว ระบุว่า ภาคเอกชนกลุ่มหนึ่ง กำลังติดตามความชัดเจนโครงการโรงไฟฟ้าขยายผล ที่กระทรวงพลังงาน เปิดเผยข้อมูลในเบื้องต้นว่า เตรียมเปิดยื่นเสนอโครงการในช่วงต้นปี 2564 ซึ่งเอกชนบางส่วนมองว่าไม่ยุติธรรมกับผู้ที่เคยสนใจยื่นเสนอแข่งขันโครงการ SPP Hybrid Firm ปี 2560 ที่ถูกตีตกไป เนื่องจากไม่ผ่านการแข่งขันในการเสนอค่าไฟฟ้า ทำให้ผู้ประกอบการในส่วนนี้ที่มีความพร้อมจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องถูกตัดสิทธิ์ เพราะรัฐกดราคารับซื้อไฟฟ้าต่ำเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้สูญเสียโอกาส

ทั้งนี้ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560 ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้ประกาศรายชื่อโครงการที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและข้อเสนอด้านเทคนิค เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2560 จำนวน 42 โครงการ มีปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายรวม 755.3 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตติดตั้งรวม 1,062.2 เมกะวัตต์ โดยในจำนวนนี้ มีโครงการที่ผ่านการประเมินข้อเสนอด้านราคาและเป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 17 โครงการ มีปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 300 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตติดตั้งรวม 434.60 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการรับซื้อไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ 

แต่ปัจจุบันมีเพียง 3 รายเท่านั้น ที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) แล้ว ที่เหลืออีก 14 ราย ไม่สามารถที่จะลงนาม PPA ได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมีปริมาณไฟฟ้ารวมประมาณ 100 เมกะวัตต์ โดยโควตาส่วนนี้ จะนำไปให้โครงการโรงไฟฟ้าขยายผลแทน