'ความสุข' อเมริกันชนช่วงโควิด 'ต่ำสุด' ในรอบ 50 ปี

'ความสุข' อเมริกันชนช่วงโควิด 'ต่ำสุด' ในรอบ 50 ปี

ผลสำรวจความเห็นล่าสุดเผย "ความสุข" ชาวอเมริกันดิ่งต่ำสุดในรอบ 5 ทศวรรษ สวนทางความพึงพอใจทางการเงิน ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19

ผลสำรวจของศูนย์วิจัยความคิดเห็นแห่งชาติ (NORC) ภายใต้มหาวิทยาลัยชิคาโกของสหรัฐ ระบุว่า ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความสุขของประชาชนในสหรัฐดิ่งลงต่ำสุดในรอบ 50 ปี แม้ว่าประชาชนส่วนมากจะรู้สึกพึงพอใจกับสถานการณ์ทางการเงินของตน

ศูนย์วิจัยจัดการสัมภาษณ์รอบแรกช่วงวันที่ 21-29 พ.ค. 2563 โดยผู้ตอบแบบสอบถามมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เป็นตัวแทนจากรัฐ 50 แห่ง และจากเขตปกครองพิเศษโคลัมเบีย รวมทั้งหมด 2,279 คน

เมื่อพิจารณาจากบริบททางประวัติศาสตร์จะพบว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกของประชาชน จนผู้ที่รู้สึกว่าตัวเองมีความสุขมากนั้นลดลงสู่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ ซึ่งอยู่ที่ 14% เท่านั้น ขณะเดียวกันกลับมีประชาชนถึง 80% ที่รู้สึกพึงพอใจกับสถานการณ์ทางการเงินของตน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน

ผลการสำรวจที่ย้อนแย้งนี้ชี้ให้เห็นว่าชาวอเมริกันเปรียบเทียบระดับความสุขในปัจจุบันกับสภาพจิตใจของตนก่อนการระบาดใหญ่ และเปรียบเทียบสถานะทางการเงินของตนกับประชาชนอเมริกันหลายล้านคนที่สูญเสียงาน ค่าจ้าง หรือเงินลงทุนอันเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาด

ขณะที่สหรัฐออกเอกสารแนวทางด้านการรักษาระยะห่างทางสังคมหลายฉบับ ชาวอเมริกันราว 50% รู้สึกโดดเดี่ยว อย่างน้อยเป็นบางครั้งบางครา เพิ่มขึ้นราว 2 เท่าเมื่อเทียบกับเมื่อ 2 ปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 23% โดยประชาชนที่อาศัยอยู่ในเทศมณฑลที่เกิดการแพร่ระบาดหนักรู้สึกไม่มีความสุขมากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในเทศมณฑลที่ได้รับผลกระทบน้อย ตัวสัดส่วนอยู่ที่ 32% ต่อ 21%

งานวิจัยนี้ ซึ่งได้รับการเผยแพร่ลงบนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยชิคาโกเมื่อวันอังคาร (16 มิ.ย.) ยังระบุด้วยว่า ชาวอเมริกัน 42% เชื่อว่าคุณภาพชีวิตในอนาคตของบุตรหลานเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น จะดีกว่าคุณภาพชีวิตของตนในปัจจุบัน ซึ่งลดฮวบจาก 57% ในปี 2561 และเป็นตัวเลขต่ำสุดตั้งแต่ปี 2537 ที่เริ่มมีการบันทึกความคาดหวังเชิงบวกที่ผู้คนมีต่อคนรุ่นถัดไป

นอกจากนี้ จำนวนชาวอเมริกันที่รู้สึกไร้ญาติขาดมิตร เพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 18% ในเดือน พ.ค. 2563 ขณะที่ชาวอเมริกันที่รู้สึกวิตกกังวล เศร้าซึม หรือหงุดหงิดก็ขยับเพิ่มขึ้นจาก 13% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 18% ในปัจจุบัน