สหรัฐสั่ง 'บ.ขุดคริปโทฯจีน' ขายอสังหาฯใกล้ 'คลังแสงฐานทัพอากาศ' หวั่นถูกสอดแนม

สหรัฐสั่ง 'บ.ขุดคริปโทฯจีน' ขายอสังหาฯใกล้ 'คลังแสงฐานทัพอากาศ' หวั่นถูกสอดแนม

สหรัฐสั่ง "บริษัทขุดคริปโทเคอร์เรนซีสัญชาติจีน" ขายอสังหาริมทรัพย์ใกล้ฐานทัพอากาศที่มี "คลังแสงนิวเคลียร์" ภายใน 120 วันนับจากนี้ เนื่องจาก "หวั่นถูกสอดแนม"

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานวานนี้ (13 พ.ค.) ว่า ทำเนียบขาวสั่งให้บริษัทขุดคริปโทเคอร์เรนซีสัญชาติจีน และพันธมิตร ขายทรัพย์สินที่ซื้อไว้ใกล้ ๆ กับฐานทัพอากาศสหรัฐ ในรัฐไวโอมิง ภายใน 120 วัน โดยทำเนียบขาวอ้างว่า มีความกังวลถูก "สอดแนม" เนื่องจากฐานทัพดังกล่าวเป็นที่ตั้งของคลังแสงนิวเคลียร์สหรัฐ

ทำเนียบขาวรายงานว่า MineOne Partners Limited บริษัทสัญชาติจีน ร่วมมือกับบริษัทอื่น ๆ ซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อขุดคริปโทฯ ในเดือน มิ.ย. 2565

อสังหาฯดังกล่าวอยู่ห่างจากฐานทัพอากาศ Francis E. Warren ในระยะเพียง 1 ไมล์ หรือราว 1.6 กิโลเมตร ซึ่งฐานทัพนี้เป็นฐานเก็บคลังแสงขีปนาวุธข้ามทวีปส่วนหนึ่งของสหรัฐ

“ระยะใกล้ชิดระหว่างอสังหาฯต่างชาติ กับคลังแสงขีปนาวุธเชิงยุทธศาสตร์และ 3 เหล่านิวเคลียร์ที่สำคัญของสหรัฐ และการมีอยู่ของอุปกรณ์พิเศษของต่างชาติที่มีศักยภาพเอื้ออำนวยต่อการสอดแนมและการจารกรรมนั้น อาจสร้างความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ” ทำเนียบขาว ระบุในแถลงการณ์

ด้าน MineOne Partners ยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นใด ๆ

ข้อตกลงที่สั่งให้ MineOne Partners ขายอสังหาฯในพื้นที่ดังกล่าว ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการการลงทุนต่างประเทศในสหรัฐ (CFIUS) นำโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณาการลงทุนของต่างชาติในสหรัฐ เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงต่อความมั่นคงแห่งชาติ และกฎหมายในปี 2561 ได้ขยายอำนาจให้ CFIUS สามารถตรวจสอบการเข้าซื้อกิจการของต่างประเทศ ที่เป็นการลงทุนโดยไม่ได้ควบคุมการทำธุรกรรมเกี่ยวกับอสังหาฯ ที่อาจสร้างความกังวลต่อความมั่นคงแห่งชาติ

“เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ กล่าวในแถลงการณ์ว่า ความเคลื่อนไหวนี้ ตอกย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของผู้รักษาประตูที่ CFIUS ได้รับมอบหมาย เพื่อสร้างความมั่นใจว่า การลงทุนของต่างชาติไม่เป็นบ่อนทำลายความมั่นคงแห่งชาติ โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมที่สร้างความเสี่ยงต่อการติดตั้งทางทหารที่อ่อนไหว รวมถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยีพิเศษต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง: Reuters