HSBC มั่นใจตลาดเอเชีย เพิ่มพนักงานอีก 500 ตำแหน่ง

HSBC มั่นใจตลาดเอเชีย เพิ่มพนักงานอีก 500 ตำแหน่ง

อะไรคือเหตุผลให้ HSBC ยังคงเดินหน้าเพิ่มพนักงานอีกหลายร้อยตำแหน่ง ในเอเชีย โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค "โควิด-19" ในหลายประเทศขณะนี้

ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่2019 ต้นตอโรค "โควิด-19" ในหลายประเทศของเอเชีย ทำให้บริษัทหลายแห่งตัดสินใจชะลอแผนธุรกิจต่างๆ เอาไว้ก่อน และรอดูว่าสถานการณ์นี้จะคลี่คลายลงเมื่อใด แต่ก็มีบริษัทบางแห่งที่นอกจากรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังเดินหน้าเพิ่มพนักงานอีกหลายร้อยตำแหน่ง ด้วยเหตุผลสำคัญคือมองเห็นโอกาสการเติบโตในตลาดบริหารจัดการความมั่งคั่งในเอเชียที่โตวันโตคืน

เอชเอสบีซี โฮลดิงส์ ที่มีแผนลดจำนวนพนักงานประมาณ 35,000 คนทั่วโลกภายในปี 2565 ยังคงให้คำมั่นว่า จะเพิ่มจำนวนพนักงานในส่วนของผู้จัดการบริหารจัดการความมั่งคั่งและนายแบงก์เพื่อลูกค้ารายย่อยอีก 500 คนในเอเชีย เพื่อรองรับความต้องการในตลาดบริหารจัดการความมั่งคั่งในเอเชียที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก แม้ว่าในขณะนี้ ภูมิภาคเอเชียกำลังเผชิญปัญหาความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้จะเป็นการแพร่ระบาดในวงจำกัด โดยเฉพาะในอาเซียน

นิตยสารไทม์ เผยแพร่บทความชื่อ A Silent Epidemic? Experts Fear the Coronavirus Is Spreading Undetected in Southeast Asia เมื่อวันที่ 28 ก.พ.โดยอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ ศ.ริชาร์ด โคเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์เขตร้อน วิทยาลัยลอนดอน ที่ระบุว่า ตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ขณะที่ตัวแทนหลายประเทศที่เพิ่งร่วมประชุมกับจีนเพื่อหารือเรื่องนี้ วิตกว่า กำลังเกิดการแพร่ระบาดอย่างเงียบๆ โดยเฉพาะประเทศที่ใกล้ชิดกับจีน

การจ้างงานใหม่ของเอสเอชบีซีจะเน้นในฮ่องกง สิงคโปร์ และจีนแผ่นดินใหญ่ และธนาคารมีแผนเพิ่มพนักงานอีก 800 คน ซึ่งรวมถึง ตำแหน่งผู้จัดการดูแลด้านความสัมพันธ์ไพรเวทแบงก์ ที่ปรึกษาด้านการลงทุนและผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ ซึ่งที่ผ่านมา ทำงานประสานกับสำนักงานใหญ่ของธนาคารในกรุงลอนดอนมาตั้งแต่ปี 2560

เมื่อปี 2558 เอชเอสบีซี เคยปลดพนักงานครั้งใหญ่ ส่งผลให้มีผู้ต้องออกจากงานมากถึง 50,000 คนทั่วโลก พร้อมทั้งการขายกิจการในตุรกีและบราซิล เพื่อนำเงินที่ได้มาขยายการลงทุนในตลาดเอเชียโดยเฉพาะที่ จีน และปัจจุบัน เอชเอสบีซีมีพนักงานประมาณ 235,000 คนทั่วโลก

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงย่อมหมายความว่าธนาคารจะมีกำไรจากสินเชื่อที่ลดลง ที่ผ่านมา คอมเมิร์ซแบงก์ ธนาคารรายใหญ่อันดับ 2 ของเยอรมนี ประกาศเตรียมเลิกจ้างพนักงาน 4,300 ตำแหน่ง และปิด 200 สาขา ไม่นานนักหลังจากดอยช์แบงก์ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ประกาศเตรียมปลดพนักงาน 18,000 ตำแหน่งทั่วโลก และโซซิเอเต เจเนอราล วาณิชธนกิจรายใหญ่ของฝรั่งเศส เตรียมปลดพนักงาน 1,600 อัตรา

ในโอกาสนี้ เอชเอสบีซี ได้เปิดตัวหน่วยงานธุรกิจที่ร่วมธุรกิจธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยและการบริหารจัดการความมั่งคั่งไว้ด้วยกัน ซึ่งมีสินทรัพย์ร่วมกัน 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้ เกือบ 50% เป็นสินทรัพย์ในภูมิภาคเอเชีย  

การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปรับปรุงและลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจให้ได้ 4.5 พันล้านดอลลาร์และลงทุนในด้านต่างๆ ที่ธนาคารเล็งเห็นแล้วว่ามีอัตาการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ในเอเชีย ซึ่งพีดับเบิลยูซี ประเมินว่า สินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของธนาคารจะเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็นเกือบ 30 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 จาก15 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2560

158324516121

ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจของเอชเอสบีซีบนเกาะฮ่องกงก็ตกเป็นเป้าการโจมตีของกลุ่มชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลจีนและทางการฮ่องกงด้วยเหมือนกัน จนธนาคารออกแถลงการณ์ประณามการกระทำอันรุนแรงของกลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกงที่สร้างความเสียหายต่อสำนักงานสาขาและทรัพย์สินอื่นๆ ของทางธนาคาร

กลุ่มผู้ประท้วงที่สวมหน้ากากกลุ่มหนึ่งได้ทุบประตูกระจกเป็นเสี่ยงๆ และทำให้ตู้เอทีเอ็มธนาคารเอชเอสบีซีสาขาหนึ่งบนถนนเฮนเนสซี่เสียหาย และผู้ประท้วงยังสาดเทสีแดงลงบนรูปปั้นสิงโตบริเวณอาคารสำนักงานใหญ่ของธนาคารเอชเอสบีซีในย่านเซ็นทรัลด้วย

ขณะที่บริเวณสวนสาธารณะวิคตอเรียปาร์ค มีผู้ประท้วงพ่นสีสเปรย์ทับไม้กระดานสีขาวบริเวณทางเข้าธนาคารเอชเอสบีซีสาขาหนึ่งด้วย ซึ่งธนาคารเอชเอสบีซี เป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของฮ่องกง ที่ตกเป็นเป้าของสถานการณ์ความวุ่นวายที่ยืดเยื้อ

นอกเหนือจากธนาคารเอชเอสบีซีแล้ว กลุ่มผู้ประท้วงยังพุ่งเป้าไปที่ธุรกิจประเภทอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสตาร์บัคส์ อาดิดาส แมคโดนัลด์ และโยชิโนยะ

ข้อมูลจากเอเชียน ไพรเวท แบงก์เกอร์ ระบุว่า เอชเอสบีซี ถือเป็นธนาคารต่างชาติรายใหญ่สุดในเอเชีย แต่สินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการยังตามหลังธนาคารคู่แข่งอื่นๆ โดยในช่วงปลายปี2561 เอชเอสบีซี ยังมีสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการน้อยกว่าธนาคารยูบีเอส และธนาคารเครดิต สวิส

“การเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ มีเป้าหมายเพื่อไล่ตามธนาคารคู่แข่งให้ทันมากกว่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในธุรกิจบริหารจัดการความมั่งคั่งแห่งเอเชีย” ราหุล เซน ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการความมั่งคั่งของเอกชนจากบอยเดน บริษัทวิจัยชั้นนำ ให้ความเห็น

นอกจากนี้ การแข่งขันในธุรกิจบริหารจัดการความมั่งคั่งในเอเชียยังคงดุเดือดด้วยผู้เล่นที่มีความเี่ยวชาญอย่างเช่น ธนาคารโนมูระ โฮลดิงส์ ที่มีจำนวนลูกค้าในมือจำนวนมากและล้วนแล้วแต่เป็นลูกค้าที่มีทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล โดยเอเชีย-แปซิฟิก เป็นภูมิภาค 1 ใน 4 ของโลกที่มีมหาเศรษฐีพันล้านจำนวนมากในปี 2562

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นภูมิภาคที่มีมหาเศรษฐีจำนวนมากที่สุดในโลก โดยมี 754 คน ที่มีความมั่งคั่งรวมกันมีมูลค่าทั้งสิ้น 2.5 ล้านล้านดอลลาร์