‘ด็อกเตอร์เอทูแซด’ 'ซีรีส์เอ' คือสถานีต่อไป

‘ด็อกเตอร์เอทูแซด’ 'ซีรีส์เอ' คือสถานีต่อไป

“3 ปีที่รอคอย ” ไม่ใช่เรื่องดราม่าน้ำตาท่วมจอ แต่เป็นเพราะเวลานี้ “ด็อกเตอร์เอทูแซด” ได้รับเงินลงทุนในระดับ Seed Round มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 12 ล้านบาท จาก "อินเว้นท์" (InVent) เป็นที่เรียบร้อย

“นายแพทย์อนุชา พาน้อย” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ด็อกเตอร์เอทูแซด จำกัด (Doctor A to Z) ผู้พัฒนาและออกแบบแพลตฟอร์ม เพื่อช่วยให้คนไข้เข้าถึงการบริการทางแพทย์กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นตลอด 24 ชั่วโมงบนออนไลน์ กล่าวว่า การก้าวมาถึงจุดนี้ได้เกิดจากความร่วมมือของทีมงานทุก ๆคน ที่ใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะพัฒนาแพลตฟอร์ม รวบรวมรายชื่อคุณหมอ ,โรงพยาบาล ตลอดจนรีไควร์เมนท์ต่าง ๆของคนไข้ ต้องเดินสายไปทำความรู้จักและหาความความร่วมมือ ฯลฯ


จนในวันนี้เครือข่ายที่อยู่ในแพลตฟอร์มด็อกเตอร์เอทูแซดมีคุณหมอผู้เชี่ยวชาญโรคเฉพาะทางต่างๆเช่น มะเร็ง หัวใจ ฯลฯ มากถึง 600 คน รวมถึงโรงพยาบาลที่ได้การรับรองมาตรฐาน JCI จำนวน 30 แห่ง


กรุงเทพธุรกิจเคยมีโอกาสสัมภาษณ์คุณหมออนุชาเมื่อเดือนมิถุนายน ในปีที่ผ่านมา และได้สอบถามถึงที่มาของชื่อ ด็อกเตอร์เอทูแซด ซึ่งได้รับคำตอบว่า จุดเริ่มต้นมาจากตัวผู้ก่อตั้ง “คุณหมออนุชา” มีอักษรตัวหน้าของชื่อก็คือ A ทั้งยังต้องการสื่อว่าบนแพลตฟอร์มนี้จะมีคุณหมอที่ชื่อขึ้นต้นด้วยตัว A อีกหลายท่าน มีตัว B-C_D จนไปถึงตัว Z หมายถึงการมีคุณหมอจำนวนมากหลากหลายสาขาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้เพื่อให้คนไข้เข้ารับการปรึกษาและรักษา ทั้งยังได้บอกถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ว่า ต้องการเป็นเฮลธ์เทคที่มีส่วนช่วยนำพาประเทศไทยก้าวสู่การเป็น “เมดิคอลฮับ”


อย่างไรก็ดี ระยะเวลาที่ผ่านมาด็อกเตอร์เอทูแซดมีการปรับเปลี่ยนบิสิเนสโมเดลบ้าง เพื่อให้สามารถ “ปลดล็อก” ข้อจำกัดต่างๆ ของการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ปรึกษาหมอ รอคิวการรักษา และการส่งต่อคนไข้เข้ารับการรักษาเป็นเรื่องที่สามารถทำใด้ง่ายขึ้น และต้องปลอดภัยตามมาตรฐานสากลทางการแพทย์ เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่ดีที่สุด


ปัจจุบัน ด็อกเตอร์เอทูแซด ถูกพัฒนาเพื่อเป็นระบบปฏิบัติการที่ทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการด้านการแพทย์อย่างครบครัน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่
ผลิตภัณฑ์แรก Doctor on Site ระบบบริการห้องพยาบาลออนไลน์ สำหรับบริษัท และองค์กร ช่วยให้องค์กรบริหารจัดการต้นทุนทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพว่า ด้วยการเพิ่ม ช่องทางและโอกาส การเข้าถึงแพทย์ สต๊อกยา และ Health record เฉพาะบุคคลสำหรับ พนักงานในองค์กรแบบทุกที่ทุกเวลา (Anytime Anywhere)


ผลิตภัณฑ์ที่สอง Hospital on Cloud โรงพยาบาลออนไลน์ที่จะมาปฏิวัติและยกระดับการให้บริการ ทางการแพทย์ของโรงพยาบาลที่จะเชื่อมต่อ และเติมเต็มการให้บริการของโรงพยาบาล เพื่อให้การเข้าถึงการบริการของคนไข้สะดวกขึ้นง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้นและโรงพยาบาลเอง ก็จะสามารถบริหารจัดการบนออนไลน์ไปสู่การบริการ offline ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลงทุนน้อยลงแต่ได้ผลลัพธ์ที่เหนือกว่า


ผลิตภัณฑ์ที่สาม ระบบ Referral System สำหรับกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism ) เป็นระบบส่งต่อคนไข้พร้อม Health Recorded และ Matching ข้อมูลการรักษา สามารถดึงข้อมูลในเรื่อง package ราคา รายละเอียดแพทย์ที่ทำการรักษา (Profile) และประวัติการรักษา ซึ่งจะช่วยให้การจัดการ การให้บริการระหว่างโรงพยาบาลและคนไข้ต่างประเทศที่ยุ่งยาก รอนานและซับซ้อน เป็นเรื่องง่ายและคนไข้สามารถได้ข้อมูลถูกต้องแบบสะดวกและรวดเร็วก่อนบินมารักษาในโรงพยาบาล รวมถึงการมีเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ที่เหนือกว่าได้ในราคาต้นทุนเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงได้


ด้าน “ดร.ณรงค์พนธ์ บุญทรงไพศาล” หัวหน้าโครงการบริษัทร่วมทุนอินเว้นท์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเหตุผลที่สนใจลงทุนกับด็อกเตอร์เอทูแซดว่าหลักเกณฑ์ที่พิจารณาหลักๆ ว่าด้วยเรื่องของ ศักยภาพขนาดของตลาด ซึ่งสุขภาพนั้นเกี่ยวข้องกับคนทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงคนวัยชรา ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรักษากับสูงขึ้นทุกปี อีกทั้งแพทย์ที่ให้การรักษาก็มีปริมาณที่น้อยกว่าคนไข้ ในประเทศไทยเราแพทย์หนึ่งคนต้องรับผิดชอบประชากรมากถึง 1,800 คน ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วแพทย์ 3-4 คนจะรับผิดชอบประชากรราว 1,000 คน เรียกว่าคงไม่มีวันพอ


"ปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลก เห็นชัดว่าเฮลธ์เทคมาแรง ยกตัวอย่างประเทศอเมริกาในปีที่ผ่านมา เฮลธ์เทคสามารถระดมทุนได้สูงถึง 800% มูลค่าประมาณ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปีนี้ก็มีการลงทุนในเฮลธ์เทคมากถึง 800 บริษัท"


ส่วนเกณฑ์ในการพิจารณาข้อถัดมาก็คือ โซลูชั่นและโปรดักส์ของด็อกเตอร์เอทูแซดที่ตอบโจทย์ปัญหาได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คนไข้ได้รับความสะดวกรวดเร็วตลอด 24 ชั่วโมง ใช้เวลาน้อยลงในการค้นหาแพทย์ที่ถูกโรคถูกคน และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษา หลักพิจารณาอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ตัวผู้ก่อตั้ง คุณหมออนุชาเป็นคุณหมอศัลยกรรมที่เชี่ยวชาญ มีความรู้จริงในสิ่งที่กำลังทำอยู่ ผู้บริหารอินเว้นท์จึงมองว่ามีความน่าเชื่อถือ (Trust)


เมื่อถามถึงความคาดหวังจากการลงทุนในครั้งนี้ ดร.ณรงค์พนธ์ตอบว่า เรื่องแรกคือหวังว่าแพลตฟอร์มของด็อกเตอร์เอทูแซดจะเสร็จในเดือนธันวาคมปีนี้ เพื่อที่ครึ่งปีหน้าจะได้รุกขยายจำนวนลูกค้าให้ได้ถึงหลัก “แสนคน” และปลายปีหน้าจะต้องมีความพร้อมสามารถระดมทุนในระดับ “ซีรีส์เอ”


เดิมทีด็อกเตอร์เอทูแซด เปิดให้บริการลูกค้าต่างชาติซึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากว่า 2 ปีแล้ว คนไข้ 50% มาจาก พม่า และ บาห์เรน อีก 50% เป็นกลุ่มลูกค้าบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย แต่แผนการขยายธุรกิจในระยะสั้นจากนี้ไปจะมุ่งไปที่ตลาดต่างประเทศโดยโฟกัสที่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม (CLMV)


อย่างไรก็ดี ด็อกเตอร์เอทูแซดได้พันธมิตรในประเทศพม่า และกำลังจะเปิดตัวแอพในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อให้บริการสุขภาพแบบครบวงจรซึ่งจะมีทั้งหมอพม่าและหมอไทยให้การรักษา ส่วนแผนในระยะยาว คือการนำเทคโนโลยีมาผสานให้เกิดความแข็งแกร่งและทำให้ระบบบริหารจัดการสุขภาพ (Healthcare Management Ecosystem) สามารถเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่นๆ (API or Integration) เช่นกลุ่มบริษัทประกันชีวิต โรงพยาบาลที่เข้าร่วมเครือข่าย คลินิกสุขภาพ ศูนย์บริการตรวจเลือดและบริษัทยา เครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อก้าวสู่การเป็น Future Healthcare Management ระดับแนวหน้า