ปลุก‘อาเซียน’รับตลาดใหม่ 'สินค้า-บริการรักษ์โลก'

ปลุก‘อาเซียน’รับตลาดใหม่ 'สินค้า-บริการรักษ์โลก'

ตลาดใหม่เน้นจำหน่ายสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (จีไอแซด) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี) จัดเวทีการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่อง "เศรษฐกิจหมุนเวียนต้องเกิดผ่านกระบวนการ 3R (Reduce Reuse Rethinking) นำไปสู่ความร่วมมือแก้ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อม และทบทวนแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อก้าวบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 12 ในเรื่องแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนการพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสีเขียว และรณรงค์ให้ใช้ฉลากสิ่งแวดล้อมกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การประชุมครั้งนี้ได้เชิญผู้แทนจากอีก 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน องค์กรพันธมิตรในเอเชีย และละตินอเมริกาจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์แนวทางแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และรูปแบบการดำเนินกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของแต่ละประเทศ

สุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในปีนี้ประเทศไทยทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียน ซึ่ง ไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการปฏิรูปการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน หรือเอสซีพี (Sustainable Consumption and Production :SCP) เกี่ยวกับการปรับใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในลักษณะบูรณาการแนวทางการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ให้เข้ากับกรอบนโยบายระดับชาติต่างๆ มุ่งขับเคลื่อนแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนปี2560 – 2579 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การลดมลพิษ และการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน

"ประเทศไทยมุ่งมั่นดำเนินงานตามแผนงานให้เกิดเอสซีพี โดยได้วางกลยุทธ์ทั้งระยะกลางและระยะยาวเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ครอบคลุมภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว การเกษตร การจัดซื้อจัดจ้าง แผนการพัฒนาฉลากสีเขียว และโรดแมปจัดการขยะพลาสติก ทั้งนี้ ก็เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตามปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียนและตอบสนองการลดก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก”รองปลัดกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำ

เกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เยอรมนีเป็นประเทศพันธมิตรที่สำคัญของประเทศไทย ในด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศ มายาวนานกว่า 10 ปี ซึ่งมีการให้ทุนผ่านโครงการต่างๆ มูลค่ากว่า 60 ล้านยูโร ในการสร้างองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทน การใช้ทรัพยากรอย่างประสิทธิภาพ และการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจัดการขยะของเสีย โดยหวังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ไทยบรรลุเป้าการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 12

10640136226417

“เยอรมนีเห็นถึงความมุ่งมั่นของไทย ในการปฏิรูปการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันมองว่า ทุกๆประเทศต่างก็เผชิญกับความท้าทายที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ซื้อให้หันมานิยมบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหน่วยงานรัฐจึงมีหน้าที่สร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมให้มีความพร้อม รับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"เอกอัครราชทูตเยอรมนี กล่าว

ด้าน ไค โฮฟ์มัน ผู้อำนวยการองค์กรจีไอแซด ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เวทีครั้งนี้ ต้องการจุดประกายความคิดให้ทุกประเทศในอาเซียนได้เกิดการเรียนรู้และแบ่งปันแนวทางปฏิบัติเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดได้ โดยแนวคิดนี้ไม่ได้มุ่งเน้นแค่การแปรรูปขยะและพลาสติกใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ แต่ยังรวมถึงการลดการใช้ทรัพยากร การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและเพิ่มอายุการใช้งาน ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดเศรษฐกิจเส้นตรงที่เน้นการใช้ทรัพยากร นำเข้าสู่กระบวนการผลิต และทิ้งเป็นขยะ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล

10640752149881

โฮฟ์มัน ชี้ว่า ประเทศเยอรมนีประสบความสำเร็จในนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อเสริมศักยภาพการตลาด โดยในเยอรมนีได้ใช้ฉลากสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า บลูแองเจิล ขึ้นเป็นประเทศแรกในโลกตั้งแต่ปี 2513 และใช้มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางการตลาดอย่างมาก โดยเฉพาะช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคในเยอรมนีก็นิยมใช้สินค้าประเภทนี้สูงขึ้นเช่นเดียวกัน บนพื้นฐานที่ทั้งสองฝ่ายต่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

ขณะที่ เถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยได้เรียนรู้แผนการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจสีเขียวของเยอรมนี ด้วยการรณรงค์ให้ภาคธุรกิจและบริการของเอกชนได้เข้าร่วมโครงการขึ้นทะเบียนสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจะได้รับฉลากเขียวที่มีสัญลักษณ์รูปหน้าเด็กยิ้ม ต้นไม้และนกที่อยู่ร่วมกันในโลกสีเขียว สำหรับติดบนสินค้าเพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภครู้ว่า สินค้านี้ได้รับการรับรองว่า มีองค์ประกอบ กระบวนการผลิต การใช้ ตลอดจนถึงการทิ้งทำลายที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่ไม่ได้รับการรับรอง ขณะเดียวกัน ฉลากเขียวไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการกีดกันทางการค้าหรือการตลาด แต่จัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันและปรับปรุง สภาพแวดล้อมภายในประเทศ ดังนั้นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศก็มีสิทธิ์สมัครขอใช้ฉลากเขียวเช่นเดียวกับผู้ผลิตภายในประเทศภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการสร้างกระแสเทรนด์ใหม่ให้กับสินค้าในตลาด

10640752092099

เถลิงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การขึ้นทะเบียนสินค้าฉลากสีเขียวเป็นหนึ่งในแนวทางปฏิบัตินำไปสู่เอสซีพี ปัจจุบันมีสินค้ามาขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 33 รายการ จากบริษัทมากกว่า 1,000 แห่ง หากในอนาคต ได้มีการขยายประเภทสินค้าที่ขึ้นทะเบียนให้ครอบคลุมไปถึงอุตสากรรมท่องเที่ยวและบริการด้วยแล้ว ก็จะยิ่งสร้างเพิ่มการแข่งขันทางการตลาด โดยฝ่ายผู้ผลิตก็จะคิดค้นและพัฒนาแนวทางลดต้นทุนการผลิต ขณะที่ประชาชนจะได้ประโยชน์จากการหาซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น และมีราคาถูกลงด้วย