ชาวประมงอวนล้อม จ.ภูเก็ต ยื่นทบทวนบังคับใช้กฎหมาย

ชาวประมงอวนล้อม จ.ภูเก็ต ยื่นทบทวนบังคับใช้กฎหมาย

ชาวประมงอวนล้อม จ.ภูเก็ต ยื่นหนังสือถึง "พล.อ.ประวิตร" ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้ทบทวนบังคับใช้กฎหมาย ชี้มีปัญหาไม่สามารถปฏิบัติได้ เหตุไม่สอดคล้องกับวิถีประมงไทย

เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (5 เม.ย.61) บริเวณศาลากลางจังหวัดภูเก็ต สมาชิกชมรมอวนล้อมจับ จังหวัดภูเก็ต จำนวนประมาณ 20 คน นำโดยนายอิศรพงษ์ ศรีสุภาวดี ประธานชมรมอ้วนล้อมจับจังหวัดภูเก็ต ได้เข้ายื่นหนังสือถึงพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผ่านทางนายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอให้ช่วยเหลือแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงอันเนื่องมาจากการออกประกาศของภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย โดยมีนายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ตร่วมรับเรื่องด้วย พร้อมสั่งการให้เชิญหน่วยที่เกี่ยวข้องและตัวแทนประมงอวนล้อมจับประชุมร่วมกันเพื่อรับทราบปัญหาก่อนที่กลุ่มชาวประมงฯ จะนัดรวมตัวกันนำเรือเข้าจอดเทียบท่าและหยุดการทำประมงในวันที่ 9 เมษายนนี้

นายอิศรพงษ์ ศรีสุภาวดี ประธานชมรมอวนล้อมจับจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากการที่กลุ่มสหภาพยุโรปหรืออียู ได้ประกาศให้ใบเหลืองกับไทยจากปัญหา IUU Fishing เพื่อแก้วิกฤติสถานการณ์อย่างเร่งด่วน รัฐบาลจึงออกประกาศพระราชบัญญัติการประมงปี พุทธศักราช 2558 จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมายเพื่อการปฏิรูปกิจการประมงไทย ต่อมากรมประมงและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้มีประกาศบังคับใช้กฎหมายหลายร้อยฉบับต่อเนื่องอย่างเร่งรีบในระยะเวลาอันสั้น โดยมิได้มีกระบวนการการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชน และผู้ประกอบกิจการประมงที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง ไม่มีการทำการศึกษาทดลองความเหมาะสมว่าสอดคล้องในวิธีปฏิบัติของลักษณะการประมงไทยแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ด้วยข้อกฎหมายที่ถูกกำหนดและประกาศใช้โดยนักวิชาการที่ขาดองค์ความรู้ขาดข้อมูลข้อเท็จจริงในภาคปฏิบัติ จึงทำให้กฎหมายไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงและต้องทำการออกประกาศแก้ไขตามมาอย่าง ต่อเนื่องจนเกิดเป็นความซ้ำซ้อนและย้อนแย้งในตัวเอง อีกทั้งรายละเอียดของข้อบังคับที่ออกประกาศใช้มานั้นมีระดับมาตรฐานสูงเกินการปฏิบัติได้จริง การเพิ่มบทลงโทษทั้งทางแพ่งทางอาญาที่รุนแรง ไม่ให้ระยะเวลาในการปรับตัวทำให้เกิดความหวาดกลัว วิตกกังวล เกิดความเสียขวัญกับผู้ประกอบกิจการประมงทั่วประเทศ และเกิดความอ่อนแอจนเข้าขั้นวิกฤตของระบบประมงไทย

เพื่อการแก้ไขวิกฤติปัญหาในกิจการประมงไทยให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ และนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงและสร้างความเชื่อถือของกลุ่มสหภาพยุโรปต่อประเทศไทย และเป็นกฎหมายที่ได้รับการยอมรับจากชาวประมงและนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง สร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำ จึงเห็นควรให้ทบทวนประกาศที่สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวประมงที่ต้องสุ่มเสี่ยงในการกระทำผิดกฎหมาย คือการจ่ายค่าแรงผ่านบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายไม่สมควรจะเกิดขึ้นกับนายจ้าง และแรงงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากในระหว่างเดือนแรงงานมีการเบิกค่าใช้จ่ายล่วงหน้า,การจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนเป็นการจ่ายที่ไม่เหมาะสม

เนื่องจากอาชีพประมงต้องขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ และได้มีการประกาศจากกรมประมงให้เครื่องมือบางประเภททำประมงได้เพียง 240 วันต่อปี และมีการเคลื่อนย้ายของแรงงานเป็นประจำ,การจดบันทึกเวลาพักของแรงงานซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีการทำประมง, ขอให้รัฐบาลได้ทบทวนประกาศหรือคำสั่งต่างๆ ที่สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวประมงที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย, ขอให้ชาวประมงได้มีส่วนร่วมในการทบทวนประกาศคำสั่งต่างๆ ที่สร้างเงื่อนไขจนขัดแย้งกับวิถีการทำประมงของชาวประมงไทย และบั่นทอนความมั่นคงในกิจการประมงไทยที่สืบทอดมายาวนานจากบรรพบุรุษ, ขอให้ตรวจสอบประกาศ คำสั่ง กฎกระทรวงที่ออกโดยมิชอบและขอให้หยุดการออกประกาศ คำสั่ง กฎกระทรวงใดๆ ในระหว่างการทบทวนประกาศ รวมทั้งขอให้ช่วยเหลือเรื่องการขาดแคลนแรงงานในกิจการประมงด้วย

อย่างไรก็ตาม นาย อิศรพงษ์ กล่าวด้วยว่าขณะนี้ ในส่วนของชาวประมงทั่วประเทศได้มีการนัดนำเรือเข้าจอดตามท่าเทียบเรือต่างๆ ในวันที่ 9 เมษายนนี้ด้วยเกรงว่าหากออกไปทำการประมงก็สุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมาย จนกว่าปัญหาของพี่น้องชาวประมงจะได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ โยปัจจุบันสำหรับเรือประมงอวนล้อมจับของจังหวัดภูเก็ตมีจำนวนประมาณ 30 ลำ