น้ำป่าท่วมลาดยาว ขยายวงกว้าง-ชาวบ้านเดือดร้อน

น้ำป่าท่วมลาดยาว ขยายวงกว้าง-ชาวบ้านเดือดร้อน

เดือดร้อน! น้ำป่าท่วมลาดยาว ฝนตกหนักหลายวันติดต่อ น้ำป่าไหลลงเขา ขยายวงกว้างเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านและถนนหนทาง

น้ำป่าจากเขาแม่วงก์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ไหลล้นคลองสาธารณะ หลากเข้าท่วมบ้านเรือนในพื้นที่ ชุมชนบ้านหนองกระดูกเนื้อ ตำบลหนองนมวัว อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเบื้องต้นมีบ้านเรือนในพื้นที่ลุ่มต่ำ 4-5 ครัวเรือน ถูกน้ำท่วมขังสูงมากกว่า 50 เซนติเมตร นอกจากนี้ถนนหมู่บ้าน และพื้นที่การเกษตรยังถูกน้ำป่าหลากเข้าท่วมเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน แต่ยังไม่มีรายงานความเสียหายที่เกิดขึ้น

ขณะที่ชาวบ้านที่เหลือต้องเร่งขนข้าวของขึ้นที่สูง และทำการวางแนวกระสอบทรายป้องกันน้ำเข้าบ้านเรือน เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นการด่วน เนื่องจากน้ำป่ายังคงขยายวงกว้างและเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามมวลน้ำป่าดังกล่าวจะไหลเข้าคลองสาธารณะ และไหลบ่าข้ามทุ่ง เข้าในพื้นที่ ตำบลหนองกระโดน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ต่อไป

ด้านการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ได้มีแก้ปัญหาด่วนด้วยการ เปิดฝ่ายชลอน้ำวังสวัสดีเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งในฝายวังสวัสดีมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น หลังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ในเขตพื้นที่อำเภอแม่วงก์ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์

หลังจากในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่อำเภอแม่วงก์ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในฝายวังสวัสดี ต.หนองกระโดน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น วัดปริมาณค่าความสูงได้อยู่ที่ 41 มิลลิเมตร มีกระแสน้ำไหลแรงอย่างต่อเนื่อง จึงต้องเร่งระบายมวลน้ำออกสู่คลองธรรมชาติในตำบลหนองกระโดน คลองท่าขนมจีน อำเภอบ้านแก่ง คลองโพธิ์ ตำบลวัดไทรย์ และลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ ตำบลบางมะฝ่อ อำเภอโกรกพระ

ซึ่งฝายวังสวัสดีนั้น ที่ผ่านมาทางกรมทรัพยากรน้ำ ได้ทำการปรับปรุงขุดลอกคันดินใหม่ เพื่อให้ฝายวังสวัสดีสามารถรองรับปริมาณน้ำได้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในช่วงเดือน เมษายนถึงสิงหาคมปีที่ผ่านมา เกิดภาวะน้ำแห้งขอด ฝนทิ้งช่วงตกไม่ตรงตามฤดูกาล

สำหรับฝายวังสวัสดีนี้ใช้ในการกักเก็บน้ำเพื่อให้เกษตรกรไว้ใช้ในการทำเกษตรหลายตำบล อาทิ ต.หนองกระโดน ต.หนองเบน ต.บ้านแก่ง ต.วัดไทรย์ ส่วนปัญหาน้ำท่วม อ.ลาดยาวนั้น ทุกปีจะมีปัญหาน้ำท่วมเมื่อมีฝนตกหนักติดต่อกัน และแน่ละปรน้ำจะท่วม 4-5 ครั้ง นับว่าเป็นปัญหาเรื้อรังอย่างต่อเนื่องมายาวนาน ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน