'สุขุมพันธุ์'กำชับสนอ.ให้ความรู้ปชช. ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

'สุขุมพันธุ์'กำชับสนอ.ให้ความรู้ปชช. ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

“สุขุมพันธุ์” กำชับ สนอ.ให้ความรู้ปชช. ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งเป้าปลอดโรคทั้งคน-สัตว์ในปี 2563

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม) นายวสันต์ มีวงษ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. ในฐานะโฆษกส่วนตัว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. กล่าวภายหลังประชุมคณะผู้บริหาร ว่า สำนักอนามัย (สนอ.) ได้รายงานสถานการณ์โรคพิษสุนับบ้า ว่า ตั้งแต่ปี 2542-2555 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 7 ราย จากนั้นในปี 2556 จนถึงปัจจุบันยังไม่พบผู้เสียชีวิต ขณะเดียวกันได้รับรายงานการตรวจพบเชื้อพิษสุนัขบ้าในตัวอย่างซากสัตว์ที่ประชาชนส่งให้มาตรวจ ตั้งแต่ปี 2553-2558 จำนวน 367 ตัว ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรคพบว่าคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังจากถูกสุนัขกัด และไม่ติดตามดูอาการ รวมถึงนำสัตว์ที่กัดส่งชันสูตรโรคพิษสุนัขบ้า สำหรับสัตว์ที่พบเชื้อพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่เป็นสุนัข ร้อยละ 90-96 เป็นแมว ร้อยละ 4-8 โดยร้อยละ 70 เป็นสัตว์จรจัด และร้อยละ 30 เป็นสัตว์มีเจ้าของ ร้อยละ 80 ของสัตว์มีเจ้าของไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและมักเลี้ยงดูแบบอิสระ ทำให้มีโอกาสไปสัมผัสกับสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้า

นายวสันต์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สำนักอนามัยจึงได้กำหนดมาตรการป้องกันล่วงหน้า โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ 50 เขต ปีละ 2 ครั้ง โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีมาตรการเฝ้าระวัง สอบสวนและส่งซากสัตว์ชันสูตรโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ โดยประชาชนสามารถโทรศัพท์แจ้ง 1555 เพื่อจับสุนัขมาสังเกตอาการ ส่วนการลงพื้นที่สอบสวนและควบคุมโรคจะเริ่มภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากได้รับรายงานผลการตรวจชันสูตรโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ เพื่อสอบส่วนโรคร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่พบโรค พร้อมทั้งค้นหาคนและสัตว์ที่สัมผัสโรค เพื่อป้องกันโดยให้การรักษาตามมาตรฐาน ตลอดจนนำสุนัขที่สงสัยออกจากพื้นที่นำไปกักเพื่อสังเกตอาการ ก่อนนำไปชันสูตรโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ

นายวสันต์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีมาตรการลดจำนวนสัตว์พาหนะนำโรคพิษสุนัขบ้า โดยการผ่าตัดทำหมัน และนำสุนัขจรจัดที่สร้างปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญออกจากพื้นที่สาธารณะมาฉีดวัคซีน ทำหมัน และฟื้นฟูสุขภาพ ก่อนนำไปเลี้ยงศูนย์พักพิงสุนัขทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี ขณะเดียวกันยังมีมาตรการจดทะเบียนสุนัข เพื่อสร้างความรับผิดชอบของเจ้าของสุนัข โดยในปี 2558 ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสัตว์ จำนวน 182,838 ตัว ผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว 29,418 ตัว ฉีดไมโครซิปจดทะเบียนสุนัข 5,354 ตัว จับสุนัขจรจัด 8,804 ตัว และให้การเลี้ยงดูสุนัขจรจัด 5,434 ตัว โดยตั้งเป้าให้ พื้นที่กรุงเทพ ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าทั้งคนและสัตว์ให้ได้ภายในปี 2563

“เชื้อพิษสุนัขบ้าไม่ได้มีเฉพาะสุนัขเพียงเท่านั้น แต่ยังมีแมว กระรอก กระต่าย และนก ดังนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้กำชับให้สนอ. ลงพื้นที่ให้ความรู้ประชาชนในการสังเกตอาการ เฝ้าระวัง เพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและลงพื้นที่รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง” นายวสันต์ กล่าว