ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ | ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน 

ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ | ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน 

ในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปี ประชาชนทั่วไปมักมีการเดินทางกลับบ้านเพื่อเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่อยู่กับครอบครัว และมีกิจกรรมพบปะสังสรรค์กันในหมู่เพื่อน ญาติพี่น้อง

หลายคนอาจเฉลิมฉลองกันเถิดจนกลายเป็นความคึกคะนอง ไม่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย มีการจุดพลุ ยิงปืนขึ้นฟ้า ซึ่งการกระทำดังกล่าว อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับ

ปัจจุบันได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาแล้ว 9 ครั้ง ครั้งล่าสุดเป็นการแก้ไขเมื่อ พ.ศ. 2543 โดยเหตุผลในการประกาศแก้ไขในพระราชบัญญัติฉบับนี้มีอยู่หลัก ๆ 3 ประการด้วยกัน คือ

1. เพื่อกำหนดความหมายให้ชัดเจนว่าอย่างใดเรียกว่า อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และ สิ่งเทียมอาวุธปืน

2. เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด โดยมิชอบด้วยกฎหมายนำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดังกล่าวมาขอรับอนุญาตเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องให้นำมาจดทะเบียน

3. อัตราค่าธรรมเนียมและโทษซึ่งได้กำหนดไว้เดิมนั้น เป็นอัตราต่ำอยู่ ยังไม่เป็นการเหมาะสม

พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ให้ความหมาย “อาวุธปืน” หมายความรวมตลอดถึงอาวุธทุกชนิดซึ่งใช้ส่งเครื่องกระสุนปืนโดยวิธีระเบิดหรือกำลังดันของแก๊สหรืออัดลมหรือเครื่องกลไกอย่างใด ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของพลังงาน และส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธนั้น ๆ ซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่าสำคัญและได้ระบุไว้ในกฎกระทรวง 

ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ | ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน 

“เครื่องกระสุนปืน” หมายความรวมตลอดถึงกระสุนโดด กระสุนปราย กระสุนแตก ลูกระเบิด ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิดและจรวด ทั้งชนิดที่มีหรือไม่มีกรดแก๊ส เชื้อเพลิง เชื้อโรค ไอพิษ หมอกหรือควัน หรือกระสุน ลูกระเบิด ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิดและจรวด ที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน หรือเครื่องหรือสิ่งสำหรับอัดหรือทำ หรือใช้ประกอบเครื่องกระสุนปืน

“วัตถุระเบิด” คือ วัตถุที่สามารถส่งกำลังดันอย่างแรงต่อสิ่งห้อมล้อมโดยฉับพลันในเมื่อระเบิดขึ้น โดยมีสิ่งเหมาะมาทำให้เกิดกำลังดัน หรือโดยการสลายตัวของวัตถุระเบิดนั้นทำให้มีแรงทำลายหรือแรงประหาร กับหมายความรวมตลอดถึงเชื้อปะทุต่าง ๆ หรือวัตถุอื่นใดอันมีสภาพคล้ายคลึงกันซึ่งใช้ หรือทำขึ้นเพื่อให้เกิดการระเบิดซึ่งรัฐมนตรีจะได้ประกาศระบุไว้ในราชกิจจานุเบกษา

“ดอกไม้เพลิง” หมายความรวมตลอดถึงพลุ ประทัดไฟ ประทัดลม และวัตถุอื่นใด อันมีสภาพคล้ายคลึงกัน 

“สิ่งเทียมอาวุธปืน” หมายความว่า สิ่งซึ่งมีรูปและลักษณะอันน่าจะทำให้หลงเชื่อว่าเป็นอาวุธปืน

ผู้เขียนจึงใคร่ขอชี้ให้เห็นถึงความผิดที่กฎหมายกำหนดกรณีดอกไม้เพลิงและยิงปืนขึ้นฟ้า ดังนี้

ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ | ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน 
สำหรับกรณีดอกไม้เพลิง กฎหมายได้กำหนดโทษไว้ ดังนี้ 

1. ห้ามมิให้ผู้ใดทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าซึ่งดอกไม้เพลิง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ หากไม่ได้รับอนุญาตแล้วนำออกมาจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 47 ประกอบ มาตรา 77)

2. หากนำดอกไม้เพลิงมาเล่น จนทำให้เกิดเพลิงไหม้ จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220) 

3. หากนำดอกไม้เพลิงมาโยนใส่กันโดยมีเจตนาให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295)

ในกรณีที่ทำให้เขาได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 200,000 บาท (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297)

4. หากนำดอกไม้เพลิงมาโยนเล่น แต่ไปถูกผู้อื่นโดยไม่มีเจตนา ถ้าเขาได้รับบาดเจ็บ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390) ในกรณีที่ทำให้เขาได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300)

ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ | ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน 

5. หากนำดอกไม้เพลิงมาเล่นทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 370)
ถ้ามีลักษณะเป็นการคุกคาม ทำให้เดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397) (ที่มาสถาบันติวกฎหมาย Ohm's Law)

สำหรับกรณียิงปืนขึ้นฟ้า กฎหมายได้กำหนดโทษไว้ ดังนี้
1. ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ ประกอบ มาตรา 72 ทวิ)

    2. ผู้ใดยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376)

3. หากกระสุนปืนที่ยิงออกจากกระบอกปืนไปตกลงไปโดนหลังคาบ้าน ทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358)

4. หากกระสุนปืนถูกผู้อื่นจนเป็นอันตราย ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291)

5. หากกระสุนปืนถูกผู้อื่นจนรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300)