นิยาม ความเสี่ยง ของนักการเมือง ทำแล้วได้หรือไม่ได้อะไร | อมร วาณิชวิวัฒน์

นิยาม ความเสี่ยง ของนักการเมือง ทำแล้วได้หรือไม่ได้อะไร | อมร วาณิชวิวัฒน์

เข้าใจว่า พอเห็นหัวเรื่อง คงมีนักการเมืองอาจไม่สบายใจที่อะไรๆ ก็จะมาลงที่นักการเมือง ท่านชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน เคยเล่าว่า ท่านไม่อยากให้เหมารวม

เพราะนักการเมืองที่อาจไม่ใช่คนร่ำรวย ไม่ใช่คนอยากได้อยากมี ยังคงมีให้เห็นอยู่ เวลานั้น ท่านยกตัวอย่างให้ฟังหลายท่าน รวมทั้งตัวท่านเองที่ไต่เต้ามาจากคนธรรมดาสามัญ อยู่วัด กินข้าววัด ทำชีวิตของท่านให้ดีขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรง

แต่สำหรับ “ความเสี่ยง” เป็นสิ่งที่เชื่อว่าไม่เฉพาะนักการเมืองแต่ปุถุชนคนทั่วไปก็ต้องคิดคำนึงด้วยกันทั้งนั้นเมื่อจะประกอบกิจการงานใดๆ แม้กระทั่งลูกศิษย์ที่มาเรียนหนังสือกับผม ก็ล้วนแล้วแต่ต้องประเมินดูแล้วว่า มีอะไรที่เสี่ยงบ้างหรือไม่ และเกรดจะได้อะไร ที่ยกตัวอย่างมาแล้วมาเทียบกับ “นักการเมือง (บางคน บางกลุ่มบางพวก)” 

เพราะ “นักการเมืองจริงๆ” มีทั้งประเภทไม่เคยทำอะไรมาก่อนเริ่มต้นชีวิตการทำงาน ก็มาเป็นผู้แทนปวงชนเลย รวมทั้งคนจำพวกที่เมื่อยื่นเสียภาษีเงินได้ แล้วแจ้งว่าไม่มีรายได้เนื่องจากอยู่ในช่วงที่อาจไม่มีการเลือกตั้ง อันอาจเป็นเพราะอยู่ในช่วงรัฐบาลทหาร หรือวิกฤติการเมืองสุดแท้แต่จะอ้าง

คนเหล่านี้ย่อมเหมือนพวกเราทั้งผอง ที่มีทั้งดีเลวปะปนกันไป แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแม้กาลเวลาจะผันผ่านมานานนับปี คือ พฤตินิสัยที่คล้ายกันไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองไทยหรือเทศ กรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน กรณีไล่ล่าฆ่าศัตรูที่สหรัฐอ้างสิทธิเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยเป็นเกราะกำบัง

รวมไปถึงกรณีล่าสุดที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐ นางแนนซี เพโลซี ตัดสินใจ (เมื่อประเมินความเสี่ยงต่างๆ แล้ว) ไปเยือนไต้หวัน กระทั่งทำให้ประเทศจีนควันออกหู ตอบโต้ทั้งทางเศรษฐกิจและการซ้อมรบด้วยกระสุนจริง

อย่างไรก็ตาม การเยี่ยมเยือนใคร คงไปไม่ได้ถ้าเจ้าบ้านไม่ต้อนรับ เพราะฉนั้น จะไปกล่าวหาสหรัฐอเมริกาฝ่ายเดียวก็ดูจะกระไร ตัวประธานาธิบดีหญิงผู้นำของไต้หวันต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย หากสถานการณ์บานปลายกระทั่งเกิดสงครามครั้งใหม่ในภูมิภาคอินโดจีน ทั้งที่หลายฝ่ายพยายามช่วยกันประคับประคอง

 แต่นโยบายต่างประเทศของเดโมแครต มักเป็นเช่นนี้มาช้านานนั่นคือ การแสดงความยิ่งใหญ่ให้โลกได้รู้ได้เห็นว่าใครจะมาท้าทายใครจะมาเป็นเบอร์หนึ่งแทนตัวเองไม่อาจยอมได้

เหมือนดังที่สำนักข่าวหลายแห่งวิเคราะห์ตรงกันว่า เป้าหมายประการหนึ่งของการเยือนจีนของนางเพโลซี คือ การแสดงสถานะ หรือ status quo ของตัวเองให้เป็นที่รับรู้ทั่วกันว่าฉันยังใหญ่เบอร์หนึ่งของโลก

เรื่องเดียวกันนี้เปรียบเทียบกับการเมืองในบ้านเรา ที่ผมเองได้นำเสนอมาหลายครั้งแล้วต่อพฤติกรรมของนักการเมืองบางคนบางกลุ่ม มาตั้งแต่เริ่มต้นตั้งพรรคการเมืองเพื่อแสวงประโยชน์ ทำให้การร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ต้องแสวงหาวิธีการมากมายมาสกัดกั้นรูปแบบวิธีการตั้งพรรคการเมือง 

เพื่อรับเงินสนับสนุนบ้าง หรือรอคนมาเซ้งต่อ หรือมาซื้อขายกันเหมือนสินค้นคอมโมดิตี้ แม้ว่าทาง กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะพยายามหาทางมองปัญหาแบบบูรณาการ ด้วยการสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมือง แต่ก็ยังคงมีนายทุนพรรคและการสมยอมกันระหว่างนักการเมืองด้วยกัน กระทั่งสมประโยชน์ ไม่มีใครร้องใคร

เรื่องเลยไม่เคยมาถึงผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางกฎหมาย เว้นแต่คดีที่เอาชนะคะคานกันทางการเมืองแบบยอมกันมิได้เท่านั้น

แม้ว่าเราจจะทุ่มเทเสียเวลาทรัพยากรมากมายมาเกือบแปดปีเต็มในการปฏิรูปประเทศ แต่ ทุนมนุษย์ หรือ ทรัพยากรบุคคล ของพวกเรายังดูเหมือนไม่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง ยังติดกับดักความเป็นพรรคพวกและอามิสสินจ้าง จะไม่ให้ไปว่านักการเมืองเลยก็คงไม่เป็นธรรม

เพราะลูกเด็กเล็กแดงก็รับรู้ได้ว่า การเมืองที่ผ่านๆ มาเลอะเทอะและไม่โปร่งใสเพียงใด ไม่ต่างกับการที่สหรัฐอเมริกายังคงเล่นบทตำรวจโลก อ้างความเป็นประชาธิปไตยไปเข่นฆ่าผู้เป็นศัตรูของตัวเองแบบไม่เกรงกลัวกฎหมายหรือใครในโลกนี้ 

แปลได้ว่า หากฉันจะต้องทำเพื่อเป้าหมาย ความเสียหายของคนรอบข้างแม้แต่ชีวิตผู้คนก็ต้องทำ การเมืองบางทีช่างร้ายกาจและอำมหิตเกินที่เราจะคาดคิด ได้ด้วยสติปัญญาและอารมณ์ความรู้สึกแบบมนุษย์ปกติทั่วไปเฉกเช่นพวกเรา.