ถกแถลงด้วยเหตุและผล | อมร วาณิชวิวัฒน์

ถกแถลงด้วยเหตุและผล | อมร วาณิชวิวัฒน์

ผมมีโอกาสไปบรรยายพิเศษที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่น 64 รุ่นล่าสุด และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับวิทยากรอีกท่านหนึ่ง ในประเด็นสำคัญที่อาจไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ถูกเชิญ

วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเชิญไปพูดเรื่อง “ต่างประเทศที่มีผลต่อไทย” แต่เมื่อมีการลากหรือโยงไปถึงรัฐธรรมนูญและสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมเลยจำเป็นต้องใช้พื้นที่ตรงนั้นอธิบายแบบกระชับมาก เพราะเป็นเวลาเที่ยง คนหิวข้าวคงไม่อยากฟังอะไรแล้ว มาเขียนต่อชัดๆ ในที่นี้ด้วย
    ข้อโต้แย้งของวิทยากรท่านนั้น มองปัญหามากมายมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาว่าด้วย Rule of Law หรือหลักนิติธรรม ที่เราเองมองว่าจะเป็นธรรมหรือไม่อยู่ที่คนอยู่ที่การกระทำ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมว่าด้วย “นิติรัฐ นิติธรรม” ถือว่าสำคัญยิ่งยวด วิทยากรท่านนั้นก็มองว่าการให้สิทธิ ส.ว.หรือวุฒิสมาชิก มีส่วนในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นประเด็นหนึ่ง และเรื่องที่คุณประยุทธ์ กล่าวถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนแม้เรื่องจะจบไปแล้วก็เป็นประเด็นหนึ่ง
 

ในรายละเอียดผมไม่อยากฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่ให้ความเห็นกับท่านทั้งหลายว่าทั้งสองเรื่องสำคัญ สามารถค้นหาอ่านคำวินิจฉัยทั้งของศาลรัฐธรรมนูญ และข้อคิดเห็นในเชิงวิชาการที่มีความหลากหลายได้
    แต่เรื่องหนึ่งที่อาจเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาเยาวชนคนรุ่นใหม่ต่อการปฏิรูปสถาบันฯ ผมว่าเป็นสิ่งที่พวกเราต้องมีความระมัดระวังในการให้ความเห็น ผมเองปรารภเรื่องนี้มาช้านานนับตั้งแต่เรียนหนังสือในต่างประเทศ ที่เราได้ตั้งกลุ่มความคิดของพวกเรากันเองในประเทศอังกฤษ เราก็นำประเด็นข้อถกเถียงเหล่านี้มาพูดคุยกันก่อนจะเกิดขบวนการอะไรต่างๆ อย่างดาษดื่นในทุกวันนี้ จำได้ว่า อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ คือคนหนึ่งที่เคยเดินทางไปพูดคุยกับพวกเราถึงประเทศอังกฤษ ผมเองก็ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย ณ เวลานั้น
    หากใครจะไปมองการเชื่อมโยงโดยเห็นว่า สถาบันฯ ไปสัมผัสกับการเมือง ผมเห็นว่าไม่เป็นธรรม และน่าจะเป็นความเข้าใจส่วนตัวของบุคคลเหล่านั้นที่ยังขาดความเข้าใจในสถานะขององค์พระประมุข ในฐานะ “องค์พระเจ้าแผ่นดิน” ซึ่งผูกพันยาวนานกับรากฐานทางประวัติศาสตร์

แต่เวลานี้ มีคนจำนวนหนึ่งพยายามจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ และเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ เพราะเล็งเห็นเช่นเดียวกับสิ่งที่ George Orwell นักประพันธ์ชาวอังกฤษเคยเขียนไว้ว่า “who controls the past controls the future, who controls the present control the past” ผมมั่นใจว่า คำกล่าวนี้คงไม่ต้องแปลความมาก เพราะมีความสมบูรณ์และไม่มีความหมายอะไรซับซ้อน

การเรียกร้องออกมาปฏิรูปสถาบันฯ และพยายามรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ในเวลานี้ คือความพยายามจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์โดยผ่านกลไกต่างๆ ทั้งทางวิชาการรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงกลไกของผู้เยาว์ที่เป็นกำลังสำคัญต่ออนาคตของชาติ

เพราะเขาเชื่อว่าวันหนึ่งคนกลุ่มปัจจุบันจะต้องกลายเป็นคนรุ่นใหม่ ถ้าเรา “ควบคุม” เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้ คุณก็จะควบคุมปัจจุบันได้ และจะควบคุมอนาคตได้ในที่สุด เป็นวิธีการทางฝ่ายสังคมนิยมปฏิบัติการเช่นนี้มาช้านานแล้ว

ผมจึงขอให้พิจารณาให้ดีว่า “การเมืองย่อมมีอย่างน้อยสองฝ่ายเสมอ คือฝ่ายผู้มีอำนาจ และฝ่ายผู้กระหายอยากมีอำนาจ” เมื่อฝ่ายหนึ่งขึ้นมามีอำนาจ อีกฝ่ายก็ต้องการจะแย่งชิงอำนาจกลับคืนมา แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่มีฝักฝ่าย แต่ถ้าสถาบันฯ จะต้องอยู่กับฝ่ายที่รักเคารพเทิดทูนสถาบันฯ ก็มิใช่เรื่องแปลก

เพราะปุถุชนทั้งหลายย่อมเสวนาพาทีกับคนที่เป็นคนพาลทั้งหลาย ย่อมนำมาซึ่งความเจริญงอกงาม ดังมงคลพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า “อ เสวนา จพาลาน°”