เรื่องของกัญชากับการเมือง | อมร วาณิชวิวัฒน์

เรื่องของกัญชากับการเมือง | อมร วาณิชวิวัฒน์

ผมไม่ต้องการไปกล่าวโทษฝ่ายการเมืองเกี่ยวกับการผลักดัน “กัญชา” ให้มีความเสรีไปกันไกลสุดกู่ กระทั่งมีการแจกต้นกล้าให้ชาวบ้านไปปลูกได้ในครัวเรือน แถมมีการออกมาสำทับด้วยเอกสารอ้างอิงมากมายว่า กัญชาถูกถอดออกจากบัญชียาเสพติดของสหประชาชาติเรียบร้อยแล้ว

กัญชา หรือภาษาทางการเรียกว่า cannabis ไม่เรียกเป็น marijuana แบบตรงๆ เพราะสายพันธุ์ของมันยังมีพืชพันธุ์อื่นๆ เช่น กัญชงที่มีค่า THC CBD ที่กฎหมายออกมาเป็นตัวเลขชัดเจน แต่เมื่อเคยตั้งคำถามว่าแล้วใครจะมานั่งวัดว่ามันมากขนาดที่ว่าหรือไม่ หรือมีเครื่องไม้เครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายไว้ตรวจอยู่พร้อมเพรียงหรือไม่ ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ กลับมา

นั่นคือสิ่งที่ผมครุ่นคิดในใจไม่ต่างกับคนจำนวนมาก กระทั่งกลางเดือน ก.ค. ผมไปพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนานพอจะได้เพื่อนใหม่มากมาย ตั้งแต่คุณหมอ คุณพยาบาล ไปกระทั่งคนเสิร์ฟอาหาร พนักงานทำความสะอาด ช่างไฟฟ้า ทำให้ได้พูดคุยกันสารพัดเรื่อง รวมทั้งเรื่อง “กัญชา” พบว่า “ร้อยละร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครเห็นด้วยกับการปล่อยเสรีกัญชา

 

ดังนั้น เมื่อหนังสือพิมพ์ออนไลน์แห่งหนึ่งระบุว่า ทางฝ่ายการเมืองยืนยันเกี่ยวกับการถอนกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดของสหประชาชาติ จึงเป็นสิ่งที่ผมให้ความสนใจมากว่า เกิดอะไรขึ้นกันแน่ เป็น facts หรือ fake news

ผมใช้กูเกิลเสิร์ชเอ็นจิน ค้นหาประโยคที่ว่า UN legalises cannabis เลยได้พบความจริงหลายประการว่า สหประชาชาติหรือยูเอ็นถอน (remove) cannabis จากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 4 ซึ่งอยู่กลุ่มเดียวกับพวกโคเคน เฮโรอีน “จริง” เพราะเห็นว่าไม่ร้ายแรงทัดเทียมกัน แต่ในเอกสารจดหมายข่าวของสหประชาชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีสิ่งที่ประชาชนควรทราบด้วย นั่นคือ (UN news ‘Law and Crime Prevention’, 2 December 2020) แค่หัวข้อข่าวก็ต้องหันกลับมามองอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว

UN news พาดหัวว่า “UN commission reclassifies cannabis yet still considered harmful”-“สหประชาชาติจัดประเภทพืชเสพติดจำพวกกัญชาใหม่ และยังคงกำหนดเป็นสารอันตราย” และมีข้อความที่เป็นผลจากการลงมติของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ที่คงต้องนำภาษาต้นทางของเขามาลงไว้ด้วย เพื่อให้เห็นชัดว่าผมมิได้นั่งเทียนหรือมั่วซั่วคิดเองเขียนเอง 

“with a vote of 27 in favour, 25 against, and one abstention, the CND has opened the door to recognizing the medical and therapeutic potential of the drug, although the use for non-medical and no- specific purposes will continue to remain illegal”

“ด้วยมติ 27 เสียงให้ความเห็นชอบ 25 เสียงคัดค้าน งดออกเสียง 1 เสียง ทางคณะกรรมการยาและสารเสพติดได้เปิดทางไปสู่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และคุณประโยชน์ในการบำบัดรักษาขของยาเสพติดชนิดนี้ อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเสพติดนี้ไปในทางที่ไม่ใช่เรื่องทางการแพทย์หรือเพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่มีความชัดเจนทางการแพทย์ยังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย”

จะเห็นได้ว่า สหประชาชาติมิได้เปิดทางให้เกิดการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนพืชจำพวกกัญชาในทางเสรีแบบไร้ขอบเขต อย่างที่เราได้เห็นภาพคนตั้งแผงขายบ้องสูบกัญชาในติ๊กต็อก ยูทูบ โดยมีตำรวจหรือพนักงานฝ่ายปกครองยืนมองตาปริบๆ เพราะหลายฝ่ายยังไม่เข้าใจข้อบังคับของกฎหมายว่าจะครอบคลุมไปมากน้อยเพียงใด ดังเช่นข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ 19 ก.ค.2565 ว่า “วุ่น จับกัญชา 230 กิโลฯ ตำรวจไม่กล้าดำเนินคดี กลัวโดนฟ้องกลับ” 

เป็นข่าวที่ผมเชื่อว่าหลายท่านน่าจะ “ขำไม่ออก” สิ่งที่นำเสนอให้กับท่านผู้อ่านนี้เพื่อเตือนสติให้ทั้งฝ่ายการเมืองและประชาชนผู้รับข่าวสารได้ตระหนักรู้ร่วมกันว่า ปัจจุบันช่องทางการรับข่าวสารของประชาชนนั้นมีกว้างขวาง มีแหล่งค้นคว้ามากมาย ในขณะเดียวกันประชาชนเองในการรับข่าวสารควรฟังความรอบด้านและถ้วนทั่ว

ผมเองไม่มีอคติกับการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ เพราะมีการศึกษาวิจัยมาระยะเวลาหนึ่งว่ามีผลในทางเป็นประโยชน์ในการบำบัดรักษาได้หากใช้ในปริมาณและภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ แต่ผมไม่สนับสนุน “นโยบายกัญชาเสรี” ที่ไปให้ประชาชนนำไปปลูกกันเอง หรือเขียนกฎหมายกันออกมาแบบที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติว่า ถ้าควันไปรบกวนเพื่อนบ้าน หรือมีปริมาณสารบางอย่างเกินเท่านั้นเท่านี้ไว้ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีมาตรการหรือเครื่องมือรองรับ 

สรุปง่ายๆ คือ ผมมองเห็นปัญหาและสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสังคมส่วนรวม ว่าเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากกว่าใครจะได้ถ้วยได้กล่องได้รับคำสรรเสริญยกย่อง ผมต้องการเห็นการเมืองเปลี่ยนแปลงมาในแนวทางที่ผมคิดฝันไว้