หมอพบเคสติดเชื้อโควิด 3 รอบ 3 สายพันธุ์แม้ฉีดเข็มกระตุ้น เผยไทม์ไลน์ อาการ

หมอพบเคสติดเชื้อโควิด 3 รอบ 3 สายพันธุ์แม้ฉีดเข็มกระตุ้น เผยไทม์ไลน์ อาการ

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "โควิด-19" เผยพบเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 3 รอบ 3 สายพันธุ์แม้ฉีดเข็มกระตุ้น เผยไทม์ไลน์ อาการป่วยแต่ละรอบ

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "โควิด-19" เผยพบเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอบที่ 3 อาการโควิดแต่ละรอบ ซึ่งแม้ว่าผู้ป่วยจะฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นมาแล้ว พร้อมไล่เรียงไทม์ไลน์ของผู้ป่วยเคสดังกล่าว

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ยอด โควิด-19 วันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 2,366 ราย ตาย 20 ราย ATK อีก 3,843 ราย

- 5 อาการ "โควิดสายพันธุ์ใหม่" BA.5 ที่พบมากกว่า BA.1 - BA.2 ชัดเจน

- โควิด-19 ยอดจริงวันละครึ่งแสน หมอศิริราช ชี้ถึงเวลาภาครัฐต้องบอกความจริง

 

โรคระบาดใหญ่ไวรัสโควิด-19 ผ่านมา 2 ปี กว่าแล้ว ยังไม่ทีท่าจะจบลง มีบางคนติดเชื้อหายแล้ว ติดเชื้อซ้ำอีก ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์ เชื้อที่เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่สายพันธุ์อู่ฮั่นของประเทศจีน สายพันธุ์ G สายพันธุ์แอลฟา เดลตา และโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1,BA.2 ล่าสุด BA.4 , BA.5 เชื้อสายพันธุ์ใหม่สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อตามธรรมชาติจากสายพันธุ์เดิม

 

ผู้ป่วยหญิงอายุ 52 ปี ปกติแข็งแรงดี มีโรคประจำตัว ปวดข้อ และมีผื่น แต่ไม่รุนแรง สงสัยเป็นโรคภูมิแพ้ตนเอง SLE กินยาสเตียรอยด์ เพรดนิโซโลนขนาดต่ำ 5 มิลลิกรัมวันละครั้ง ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งแรกวันที่ 18 เมษายน 2564 มีอาการแสบคอ ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ ไอ เอกซเรย์สงสัยปอดอักเสบ ยืนยันด้วยการตรวจ RT-PCR SARS-CoV-2 ได้รับ ยาฟาวิพิราเวียร์ ดีขึ้น ติดเชื้อครั้งนั้นคงเป็นเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา

 

หลังจากติดเชื้อครั้งแรก ผู้ป่วยได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดทั้งหมด 3 เข็ม ซิโนแวค แอสตร้าเซนเนกา และไฟเซอร์ เข็มสุดท้ายเดือนมกราคม 2565

 

ติดเชื้อไวรัสโควิดครั้งที่ 2 31 มีนาคม 2565 มีอาการแสบคอ ปวดเมื่อยตัว ไม่มีไข้ ไม่ไอ ยืนยันด้วยการตรวจ RT-PCR SARS-CoV-2 ไม่ได้กินยาต้านไวรัส หายเอง ครั้งนั้นคงเป็นเชื้อไวรัสโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2

 

 

ล่าสุดติดเชื้อไวรัสโควิดครั้งที่ 3 ต้นเดือนกรกฎาคม 2565 มีอาการเจ็บคอ ปวดเมื่อยตัว มีน้ำมูกเล็กน้อย ไม่ไอ ไม่มีไข้ ยืนยันด้วยการตรวจ RT-PCR SARS-CoV-2 ไม่ได้กินยาต้านไวรัส กำลังดีขึ้น ครั้งนี้คงเป็นเชื้อไวรัสโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5

 

ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ช่วยพยาบาลทำงานที่ห้องฉุกเฉิน ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคโควิดตลอดเวลา และเนื่องจากกินยาสเตียรอยด์ ภูมิคุ้มกันไม่ดีเหมือนคนทั่วไป ทำให้ติดเชื้อแล้วติดเชื้ออีกถึง 3 ครั้ง แม้จะได้รับวัคซีนครบโดสและเข็มกระตุ้นแล้วก็ตาม หลังจากหายครั้งนี้ ต้องให้วัคซีนเข็มกระตุ้นชนิด mRNA อีก 1 เข็ม

 

CR เฟซบุ๊ก หมอมนูญ